สจล.ชวนสมทบทุนสร้างรพ.วิจัยนวัตกรรมการแพทย์ครบวงจรแห่งแรกของไทย

News Update

สจล. ชวนคนไทยสมทบทุนจัดสร้าง “โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร” รพ.วิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์แห่งแรกของไทย มุ่งเป้าวิจัยเครื่องมือฯ เพื่อผู้สูงอายุ คนพิการ ลดการนำเข้า ร่วมสมทบทุนได้ที่ www.ให้เพื่อสร้าง.com   

                     ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะ ประธานมูลนิธิ โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร เปิดเผยว่า จากวิกฤตด้านสุขภาพของไทย สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านสาธารณสุขในหลากมิติ ทั้งโอกาสการเข้าถึงการรักษาพยาบาล การขาดแคลนนวัตกรรมทางการแพทย์ประสิทธิภาพสูงของคนไทย โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา สจล. ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือวิกฤตดังกล่าว ด้วยการพัฒนานวัตกรรม ภายใต้โครงการ “KMITL 60 FIGHT COVID-19”  ส่งมอบให้กับหน่วยงานรัฐและโรงพยาบาลทั่วประเทศ   และเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงนวัตกรรมทางการแพทย์ได้อย่างเท่าเทียม รวมถึงสนับสนุนรัฐบาลลดการนำเข้าเทคโนโลยี  สจล. จึงเดินหน้าดำเนินโครงการจัดตั้ง “โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร” (KMC Hospital ) โรงพยาบาลวิจัยนวัตกรรมการแพทย์ครบวงจรครั้งแรกของประเทศไทย และอาเซียน 

                  ทั้งนี้การดำเนินการจัดสร้าง โรงพยาบาล ดังกล่าว จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและสมบูรณ์ไม่ได้ หากขาดความช่วยเหลือและสนับสนุนจากคนไทยทุกคน  ซึ่งประชาชน หน่วยงาน และผู้มีจิตศรัทธาสามารถสมทบทุนงบประมาณในการจัดสร้างรพ.ได้ โดยเข้าไปที่ www.ให้เพื่อสร้าง.com หรือโทรศัพท์ 092-454-8160 และ 092-548-2640 หรือไลน์ไอดี @KMITLHospital    นอกจากนี้สจล.ยังจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อสนับสนุนงบประมาณจัดสร้าง  เช่น กิจกรรมประมูลภาพเขียน 46 ผลงานและงานสร้างสรรค์ จากศิลปินแห่งชาติและบุคคลที่มีชื่อเสียงกว่า 40 ศิลปิน  และการจัดจำหน่ายหนังสือ “คิดต่าง สร้างการเปลี่ยนแปลง” อีกด้วย  

                  ด้านรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ประเสริฐ ตรีวิจิตรศิลป์ รองอธิการบดี ฝ่ายการแพทย์และเทคโนโลยีสุขภาพ  สจล.  กล่าวว่า “โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร”  จะเป็นพื้นที่ที่มุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัย โดยตั้งเป้าให้โรงพยาบาล เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการสร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์ ลดการนำเข้าเทคโนโลยี เครื่องมือแพทย์มูลค่ามหาศาล สร้างศูนย์รวมนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส และสร้างองค์ความรู้ด้านเครื่องมือแพทย์เพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน โรคระบาดด้วยการบูรณาการองค์ความรู้หลากหลายศาสตร์    ภายใต้ความร่วมมือของนักวิจัยจากคณะต่าง ๆ  

                  “ที่ผ่านมา โรงพยาบาลภาครัฐ ได้นำเข้านวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ จากต่างประเทศจำนวนมาก โดยคิดเป็นมูลค่านับหมื่นล้านบาทต่อปี ด้วย 2 ปัจจัยสำคัญ คือ 1. เทคโนโลยี/นวัตกรรมจากต่างประเทศ ผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตเครื่องมือแพทย์แบบสากล และ 2. ขาดแคลนหน่วยงานเฉพาะทาง ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและควบคุมมาตรฐานการผลิตเครื่องมือแพทย์ ดังนั้นโรงพยาบาลดังกล่าวจะสามารถผสานองค์ความรู้ สู่การพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อร่วมขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขของประเทศ พร้อมเปิดโอกาสให้นักวิจัยทุกหน่วยงาน ที่มีแนวคิดหรือต้นแบบนวัตกรรมทางการแพทย์ต้นแบบ มาร่วมทดสอบประสิทธิภาพและขอรับคำปรึกษา เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น”

                   ศาสตราจารย์นายแพทย์อนันต์ ศรีเกียรติขจร คณบดีคณะแพทยศาสตร์  สจล.  กล่าวว่า ในระยะแรกของโรงพยาบาลนวัตกรรมทางการแพทย์ สจล. เตรียมพัฒนา “นวัตกรรมทางการแพทย์รับยุคดิจิทัล” (Digital Health Care) นวัตกรรมทางการแพทย์ความเสี่ยงต่ำ หนุนผู้ป่วยใช้งานจากที่บ้าน ได้รับการรักษาแพทย์ทางไกล (Telehealth) ในยุคดิจิทัล ภายใต้การขมวดรวมองค์ความรู้ทางการแพทย์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม และอื่น ๆ ร่วมกับเทคโนโลยีเอไอ (AI) ไอโอที (IoT) ไอโอเอ็มที (IoMT ) และระบบคลาวด์ (Cloud) ในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ หรือนวัตกรรมทางการแพทย์ พร้อมแสดงผลแบบเรียลไทม์ ผ่านแอปพลิเคชันหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงนวัตกรรมประสิทธิภาพสูงจากที่บ้านได้อย่างเท่าเทียม โดยไม่เสี่ยงหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ  

                  สำหรับนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เตรียมพัฒนาในอนาคต ภายใต้แนวคิด Telehealth ประกอบด้วย เอไอวินิจฉัยโรคปอด โปรแกรมวินิจฉัยโรคปอดจากภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์ (X-Ray) ได้แก่ ภาวะปอดรั่ว และภาวะปอดบวม พร้อมแสดงความเสี่ยงของการเกิดโรคในรูปแบบเปอร์เซ็นต์ และ เครื่องฟอกอากาศในห้องทันตกรรม นวัตกรรมฟอกเชื้อโรคในอากาศจากละอองน้ำลายผู้ป่วย ที่อาจจะฟุ้งกระจายขณะกรอฟัน ลดโอกาสติดเชื้อสู่ทันตแพทย์ผู้รักษา และคืนอากาศบริสุทธิ์ภายในห้องทันตกรรม