วว. ผนึกกำลังพันธมิตร 4 หน่วยงาน สร้างความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนา ทดสอบชิ้นส่วนอากาศยาน มุ่งพัฒนาขีดความสามารถอุตสาหกรรมการบินของไทย

i & Tech

ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา   วิทยาศาสตร์   วิจัยและนวัตกรรม  (อว.)   พลอากาศเอกศุภชัย   สายเงิน   กรรมการผู้จัดการ บริษัทอุตสาหกรรมการบิน จำกัด  (TAI)  นายเกียรติศักดิ์   จิระขจรวงศ์ นายกสมาคมสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย  (TSC)  และ นายปกรณ์  อาภาพันธุ์   ผู้อำนวยการ  สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ  (GISTDA)  ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจว่าด้วยการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาทดสอบชิ้นส่วนอากาศยาน  เพื่อส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศไทย  โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี  โอกาสนี้  ดร.พัชทรา  มณีสินธุ์  รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว.  นาวาอากาศโทสุรศักดิ์   ภู่ทอง   ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ  TAI  นายสมควร    จันทร์แดง  ประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ TSC  และ นายดำรงค์ฤทธิ์  เนียมหมวด  รองผู้อำนวยการ GISTDA  ร่วมเป็นสักขีพยาน  ในวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2565 ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์  201 ชั้น 2 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

วว. ทดสอบชิ้นส่วนอากาศยาน ชิ้นที่ 5 (ซ้าย) และชิ้นที่ 1 (ขวา)

               ภายใต้กรอบความร่วมมือของพันธมิตรทั้ง 4 หน่วยงานสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศเพื่อการพึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้า และเพิ่มความสามารถการแข่งขันในตลาด โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (S-Curve 7) และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (S-Curve 11)  สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จึงได้ผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงาน  ในการตอบสนองต่อนโยบายดังกล่าว โดยผลักดันให้เกิดการส่งเสริมการสร้างและการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน บริภัณฑ์ภาคพื้น และอุปกรณ์สนับสนุนการซ่อมบำรุงอากาศยาน เพื่อสนับสนุนการซ่อมบำรุงอากาศยานพร้อมกับการสนับสนุนจากห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานในการทดสอบชิ้นงาน และให้การรับรองคุณภาพความปลอดภัยในการใช้งานตามมาตรฐาน AS9100D ทำให้ผู้ใช้งานมีความเชื่อมั่นในคุณภาพ และความปลอดภัยในชิ้นส่วนอากาศยานที่ผลิตภายในประเทศ

               ผู้ว่าการ  วว.  กล่าวว่า  ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ วว. จะให้การสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือวิเคราะห์/ทดสอบ  พร้อมทั้งออกรายงานผลการวิเคราะห์/ทดสอบตามมาตรฐาน  และให้ความร่วมมือในการพัฒนามาตรฐานอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการดัดแปลง  ปรับปรุงอากาศยาน/อากาศยานไร้คนขับ/อวกาศยาน รวมทั้งบริภัณฑ์ภาคพื้นและอุปกรณ์สนับสนุนการซ่อมบำรุงอากาศยานที่สร้างโดยผู้ประกอบการของสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทยตามข้อกำหนดผู้ใช้งาน  เพื่อร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์กับทั้ง  4  หน่วยงาน นอกจากนี้ วว. ยังให้ความร่วมมือและสร้างเครือข่ายร่วมกันในการผลักดันอุตสาหกรรมการบินและอากาศยาน เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานและดาวเทียม ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ  โดยการดำเนินงานของ วว. ภายใต้ความร่วมมือนั้น  ห้องปฏิบัติการตรวจสอบสมบัติวัสดุและวิเคราะห์ความเสียหาย  ในสังกัด ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ  วว.  ซึ่งถือเป็นห้องปฏิบัติการวิเคราะห์/ทดสอบของภาครัฐ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการระบบคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมการบิน  อวกาศ  และการป้องกันประเทศ  (AS9100D )  มีความพร้อมและมุ่งมั่นในการผลักดัน  ขับเคลื่อน  อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ของประเทศให้ทัดเทียมนานาชาติ  รวมทั้งกระตุ้นความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการประกอบธุรกิจด้านการบินและอวกาศ

               พลอากาศเอกศุภชัย   สายเงิน   กรรมการผู้จัดการ บริษัทอุตสาหกรรมการบิน จำกัด  กล่าวว่า  TAI  จะร่วมส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการดัดแปลง ปรับปรุงอากาศยาน/อากาศยานไร้คนขับ/อวกาศยาน ที่สร้างทดแทนผลิตและซ่อมบริภัณฑ์ภาคพื้น รวมทั้งอุปกรณ์สนับสนุนการซ่อมบำรุงอากาศยานและประสานงานกับหน่วยผู้ใช้งานในการรับรองมาตรฐาน  สนับสนุนข้อมูลและรายละเอียดสำหรับการผลิตชิ้นส่วน  การทดสอบ ทดลอง การกำหนดและการขอรับรองมาตรฐานในการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน/อากาศยานไร้คนขับ/อวกาศยานที่สร้างทดแทน บริภัณฑ์ภาคพื้น  อุปกรณ์สนับสนุนการซ่อมบำรุงอากาศยาน  เช่น มาตรฐาน AS9100D และ/หรือมาตรฐาน NADCAP หรือมาตรฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

            นายเกียรติศักดิ์   จิระขจรวงศ์   นายกสมาคมสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย  กล่าวว่า  TSC  จะให้การสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องจักรกับการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการดัดแปลง ปรับปรุงอากาศยาน/อากาศยานไร้คนขับ/อวกาศยาน บริภัณฑ์ภาคพื้น และอุปกรณ์สนับสนุนการซ่อมบำรุงอากาศยาน  ให้ความร่วมมือในการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน/อากาศยานไร้คนขับ/อวกาศยานผลิตและซ่อมบริภัณฑ์ภาคพื้นรวมทั้งอุปกรณ์สนับสนุนการซ่อมบำรุงอากาศยาน  การทดสอบ ทดลอง ชิ้นส่วนอากาศยาน/อากาศยานไร้คนขับ/ อวกาศยานที่สร้างทดแทน บริภัณฑ์ภาคพื้น และอุปกรณ์สนับสนุนการซ่อมบำรุงอากาศยาน   การพัฒนามาตรฐานในการผลิตชิ้นส่วนชิ้นส่วนอากาศยาน อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

              นายปกรณ์   อาภาพันธุ์    ผู้อำนวยการ   สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ  กล่าวว่า  GISTDA   จะสนับสนุนเครื่องมือทดสอบชิ้นส่วนอากาศยานและดาวเทียม ในการทดสอบคุณสมบัติเชิงกลของวัสดุชิ้นส่วนอากาศยาน ตลอดจนอุปกรณ์การพัฒนาปรับปรุงอากาศยาน/อากาศยานไร้คนขับ/อวกาศยาน ที่สร้างโดย TSC ตามที่ผู้ใช้งานกำหนด รวมทั้งอุปกรณ์สนับสนุนการซ่อมบำรุงอากาศยาน ออกหนังสือรับรองผลการวิเคราะห์ การทดสอบ ทดลอง ชิ้นส่วนอากาศยาน/อากาศยานไร้คนขับ/อวกาศยาน ที่ผ่านคุณภาพและความปลอดภัยตามที่ผู้ใช้งานกำหนด และสอดคล้องกับ ISO/IEC 17025, AS9100D, NADCAP ให้ความร่วมมือในการพัฒนามาตรฐานการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการดัดแปลง ปรับปรุงอากาศยาน/อากาศยานไร้คนขับ/อวกาศยาน บริภัณฑ์ภาคพื้น และอุปกรณ์สนับสนุนการซ่อมบำรุงอากาศยาน