“นักวิจัยต้องไม่อยู่แต่ในห้องแลป แต่จะต้องเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ หรือ ภาคสังคม”

Cover Story

                 “InnoLife Thailand” ได้รับเกียรติจาก “ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์”  รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้าสัมภาษณ์พิเศษหลังจากเข้ารับตำแหน่งประมาณ 2 เดือนนับจากวันที่ 13 ส.ค.2563  

                  งานที่ ศ.ดร.เอนก กำลังขับเคลื่อน คือ “ ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันเพื่อพัฒนาจังหวัดด้วย อววน.” เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายโครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

                 “นายกรัฐมนตรี  เสนอโครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน  มีคณะกรรมการทั้งระดับประเทศ นายกฯ  เป็นประธาน และระดับจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) เป็นประธาน โดยมีรัฐมนตรีแต่ละท่านเป็นที่ปรึกษาให้แก่ ผวจ.ซึ่งผมเห็นว่า  อว. สามารถเป็นหน่วยงานมันสมองที่ไปช่วยการพัฒนาได้ทั้ง 77 จังหวัด  จึงได้หารือกับผู้บริหาร อว.จัดตั้งกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันของ อว. ใน 2 ระดับ คือ ส่วนกลาง มีปลัดเป็นประธาน และ รมว.อว. เป็นที่ปรึกษา และ ส่วนหน้า แบ่งเป็นระดับจังหวัด  มีตัวแทนมหาวิทยาลัยในแต่ละจังหวัดขับเคลื่อน และระดับกลุ่มจังหวัด มีเครือข่ายมหาวิทยาลัย 9 เครือข่ายเป็นตัวขับเคลื่อน โดย อว.ส่วนหน้า ทั้ง ระดับจังหวัด/ระดับกลุ่มจังหวัด ทำงานร่วมกัน และเชื่อมโยงกับส่วนกลาง”

                 การดำเนินงาน อว.ส่วนหน้า จะช่วยให้อาจารย์/นักวิจัย ออกจากห้องเรียน/ห้องแลป ไปทำงานจริงและแก้ปัญหาจริงในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งถือเป็นโอกาสในการผสมผสานและสนธิกำลังของหน่วยงานต่างๆ ใน อว. เกิดเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัย ในระบบ อววน. ทั้งหมด เป็นการปรับการทำงานแบบทำคนเดียว เปลี่ยนเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหลายๆ หน่วยงาน   มีการทำงานร่วมกันทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับฯ มหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชมงคล และหน่วยงานวิจัยใน อว.

                  “นักวิจัยต้องไม่อยู่แต่ในห้องปฏิบัติการ แต่จะต้องเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ หรือ ภาคสังคม ซึ่งก็มีการดำเนินงานในลักษณะนี้อยู่บ้าง เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ ไม่เป็นเพียงห้องทดลองแต่มีการเชื่อมโยงกับบริษัทด้วย หรือ การจัดตั้ง Holding Company ที่นำผลงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการไปเชื่อมโยงกับตลาด ขณะที่งานวิจัยเชิงสังคม ควรมีงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาช่วยสนับสนุน เพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าให้ผลงานวิจัยซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น”

                  … เพราะฉะนั้น โครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน เป็น “โอกาสทอง” ที่หน่วยงานจะได้แสดงฝีมือการทำงาน…

                  “ งานปกติก็ขอให้ดำเนินการไปตามภารกิจ แต่ขอให้ถือว่าการพัฒนาจังหวัดเป็นภารกิจที่สำคัญ เพราะจะทำให้สังคมและรัฐบาลเห็นว่าการพัฒนาประเทศในอนาคตจะขาดความรู้จาก อว. ไม่ได้  จากในอดีต ที่มีเพียง สภาพัฒน์ เป็นผู้มีบทบาทในการพัฒนาประเทศ แต่ในปัจจุบัน อว. จะมีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาประเทศ เพราะต้องใช้องค์ความรู้/ข้อมูล ที่ อว. เป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญของประเทศ  ที่สำคัญ อว. เป็นกระทรวงแห่งโอกาส ให้ทำงานโดยอย่าเริ่มต้นด้วยปัญหา แต่ให้เริ่มด้วยโอกาส ทั้งนี้ ผมจัดให้มีการว่าราชการตามภูมิภาค ครั้งละ 3 – 4  วัน ในพื้นที่นำร่อง คือ จังหวัดขอนแก่น เป็นตัวแทนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และขยายต่อไปยัง จ.เชียงใหม่ ตัวแทนภาคเหนือ และ จ.สงขลา ตัวแทนภาคใต้ ตามลำดับ อาทิ การพัฒนาแต่ละพื้นที่ให้สอดคล้องกับนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันของนายกรัฐมนตรี ที่ให้ ผวจ. แต่ละจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัด โดยใช้ความต้องการของจังหวัดและพื้นที่เป็นที่ตั้ง จากนั้นให้คณะทำงาน อว. ส่วนหน้า เพื่อนำความรู้ของ อว. ไปช่วย ผวจ. แก้ปัญหาในพื้นที่  โดยมีมหาวิทยาลัยอย่างน้อยหนึ่งแห่งทำหน้าที่รวบรวมโจทย์ ปัญหาและตอบโจทย์ช่วยแก้ไขปัญหาของแต่ละจังหวัด”

                 ทั้งนี้  ศ.ดร.เอนก  บอกว่า จะมีการจัดตั้ง คณะทำงาน อว.ส่วนหน้า กลุ่มจังหวัด โดยใช้อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและหน่วยบ่มเพาะธุรกิจในมหาวิทยาลัยเป็นแม่ข่ายขับเคลื่อน เช่น กลุ่มภาคใต้บน มีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นแม่ข่าย และกลุ่มภาคใต้ล่าง มีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นแม่ข่าย  รวมทั้งมีคณะทำงาน อว. ส่วนกลาง ช่วยประสานและขับเคลื่อนกลไก อว. ส่วนหน้า ทั้งหมดเพราะนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับ วทน. ดังจะเห็นได้จากโครงการใหญ่ ๆ ของประเทศ จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้จาก อว. ในการสนับสนุน เช่น หากมีการสร้าง Land Bridge ระหว่าง ระนอง-ชุมพร ก็ต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและยุทธศาสตร์ ตามแนวทาง SEA (Strategic Environment Assessment) ซึ่ง มทร.ศรีวิชัย ก็สามารถมีส่วนร่วมได้ เป็นต้น

                 นอกจากนี้  ยังสนับสนุนมหาวิทยาลัยในการทำตัวเป็นตลาดหรือผู้ซื้อสินค้าชุมชน สร้างรายได้ให้แก่ผลงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยสนับสนุนชุมชน สอดคล้องกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยราชภัฏในการทำหน้าที่พัฒนาชุมชนและพื้นที่ และให้มีการขยายผลการให้มหาวิทยาลัยเป็นตลาดดูดซับเศรษฐกิจชุมชน ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และขยายการซื้อสินค้าชุมชน แทนการใช้สินค้าจากบริษัทใหญ่ เช่น ชาและกาแฟที่เลี้ยงรับรองในมหาวิทยาลัย อาจพิจารณาจัดซื้อชาหรือกาแฟจากเกษตรกรหรือผู้ประกอบการในท้องถิ่น เป็นต้น

                  “ที่สำคัญ ผมยังขอให้รวบรวมผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัยและความช่วยเหลือของหน่วยงานใน อว. เพื่อจัดจำหน่ายภายใต้งาน “มหกรรมผลิตภัณฑ์ อว.” โดยควรจัดควบคู่กับมหกรรมวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ทำให้ประชาชนเข้าถึงวิทยาศาสตร์ได้มากขึ้น เพราะการนำเสนอด้านวิทยาศาสตร์ตามทฤษฎีเป็นวิชาการเป็นเรื่องเข้าใจยาก ดังนั้น การนำสินค้าจากงานวิจัยที่จับต้องได้ ชิมได้ ซื้อขายได้ จะเชื่อมโยงให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น”

                 “ผมมีโอกาสรับเสด็จสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในคราวเสด็จเปิดอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ทรงมีกระแสรับสั่งเรื่องการสร้างนวัตกรรมของไทย ไม่ควรทำซ้ำๆ กัน แต่ควรมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะที่ เช่น กรณีผ้าพื้นถิ่นของ มรภ.นครศรีธรรมราช ที่มีกลิ่นหอมจากการย้อมธรรมชาติ นับเป็นนวัตกรรมที่มีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น เป็นต้น  เพราะฉะนั้น อว.จะมุ่งเน้นให้มีวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน เพื่อสร้างมูลค่า เพิ่มคุณค่าให้กับนวัตกรรมนั้นๆมากขึ้น”