GIT จัดประชุมประชาพิจารณ์ร่างมาตรฐานอัญมณี เครื่องประดับฯยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี

News Update

เมื่อวานนี้ (16 กันยายน 2565) : GIT จัดประชุมประชาพิจารณ์รับฟังข้อคิดเห็นต่อร่างมาตรฐานอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร ยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับเทียบเท่าระดับสากล

           นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (GIT)  กล่าวว่า ปัจจุบันอัญมณีสังเคราะห์เข้ามาในตลาดเป็นจำนวนมากทำให้ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคขาดความมั่นใจในคุณภาพสินค้า รัฐบาลจึงได้เล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมอัญมณีเครื่องประดับและโลหะมีค่า จึงมีความต้องการที่จะยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลก เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมมาตรฐานการเปิดห้องปฏิบัติการที่จะนำมาเป็นแนวทางปรับใช้ อีกทั้งยังไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแล จึงทำให้ห้ององปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับที่ให้บริการอยู่บางส่วน อาจมีกระบวนการตรวจสอบหรือวิเคราะห์ที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ผลการตรวจสอบ หรือใบรับรองมีความแตกต่างหรือคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง

           สถาบันในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในด้านการตรวจสอบอัญมณีและรับรองคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับ จึงได้ริเริ่มดำเนินโครงการ GIT Standard โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมาตรฐานสำหรับห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่ร่วมเป็นคณะกรรมการจัดทำมาตรฐาน อาทิ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ สมาคมค้าทองคำ สมาคมช่างทองไทย สมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรรมการท่องเที่ยว ผู้แทนจากภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีและเครื่องประดับ

           การจัดการประชุมประชาพิจารณ์ครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมกันแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำร่างมาตรฐานด้านอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า แบ่งเป็นมาตรฐานด้านอัญมณี ได้แก่ มาตรฐานคอรันดัม จำนวน 2 ขอบข่าย มาตรฐานเพชรสังเคราะห์ จำนวน 2 ขอบข่าย และมาตรฐานโลหะมีค่า จำนวน 1 ขอบข่าย โดยมีผู้ร่วมแสดงข้อคิดเห็นเป็นจำนวนมาก

          “GIT Standard จะช่วยพัฒนาและยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการฯ ในประเทศไทยให้เทียบเท่าระดับสากลได้ ซึ่งจะเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้ห้องปฏิบัติการและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้มากขึ้น” นายสุเมธกล่าวทิ้งท้าย