“พล.อ.ประวิตร” เห็นชอบผลวิจัยนวัตกรรมเชิงระบบเพื่อการบริหารจัดการน้ำฯ มุ่งสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนแก้ปัญหา

News Update

            พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ครั้งที่ 3/2565 ณ ห้องประชุม มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และผ่านระบบออนไลน์ โดยประเด็นสำคัญในการประชุมคือการพิจารณาผลการศึกษาโครงการวิจัยการศึกษานวัตกรรมเชิงระบบโครงสร้าง และกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ที่จัดทำโดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

            ที่ผ่านมา วช. กระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ และสนับสนุนงานวิจัยด้านน้ำมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ แผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำ และจัดเสวนาออนไลน์ภายใต้หัวข้อ “สู้ภัยน้ำท่วม ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา และครั้งนี้ วช. ได้สนับสนุนการศึกษานวัตกรรมเชิงระบบฯ ซึ่งจัดทำโดย สอวช. และ TDRI เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และคณะกรรมการกำหนดนโยบายขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ที่มี (รักษาการ) นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ซึ่งสามารถนำผลการสังเคราะห์ที่ได้จากการศึกษาไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำและบูรณาการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเชิงระบบและโครงสร้างให้ครอบคลุมทุกมิติ ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน ซึ่งในปัจจุบันภารกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า 38 หน่วยงาน และมีกฎหมายหลายฉบับที่กำหนดให้หน่วยงานรับผิดชอบ ดูแล และบำรุงรักษา มีปัญหาความทับซ้อนการทำงานส่งผลต่อผลลัพธ์มิติน้ำและมิติทางเศรษฐกิจและสังคม จึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการวิเคราะห์แนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ

            การหารือในครั้งนี้ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบผลการศึกษาฯ ดังกล่าว โดยมีข้อสรุปสำคัญคือมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีการปฏิรูประบบการบริหารจัดการการน้ำให้เกิดความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security) และเป็นการจัดการที่เป็นตามหลักธรรมาภิบาลการจัดการน้ำ (Water Governance) โดยอยู่ในรูปแบบกระทรวงทรัพยากรน้ำเพื่อเป็นการแก้ไขและพัฒนาระบบอย่างก้าวกระโดด โดยมีแผนที่นำทางที่ต้องเร่งดำเนินการ (Quick Win) ภายในระยะเวลา 5 เดือนเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบการบริหารจัดการน้ำในปัจจุบัน ผ่านการทำงานของ สทนช. ได้แก่ 1) เสริมสร้างความเข้มแข็งในระดับลุ่มน้ำ โดยการจัดตั้งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการลุ่มน้ำ/อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และ 2) จัดตั้ง โครงการจัดตั้ง Water Resources Intelligent Unit 3) จัดตั้งคณะทำงานยกร่างพ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมฯ และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำและร่างกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การขึ้นรูปกระทรวงทรัพยากรน้ำต่อไป

            ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้มอบหมายให้ TDRI ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อว.) เร่งจัดทำรายงานผลการศึกษาให้สมบูรณ์ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และคณะรัฐมนตรี รวมถึงรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบความคืบหน้าต่อไป