วช.หนุนทีมวิจัยเอ็นเทคพัฒนาต้นแบบเครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับบำบัดมูลฝอยติดเชื้อ

เวทีวิจัย

วช.หนุนทีมวิจัยเอ็นเทค สวทช.พัฒนาเครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับบำบัดมูลฝอยติดเชื้อภายในสถานประกอบการด้านสาธารณสุข ชี้นอกจากลดการนำเข้าเทคโนโลยีและสารเคมีแล้ว ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปริมาณขยะติดเชื้อ และยังสร้างตระหนักในการบริหารจัดการขยะติดเชื้อในสถานพยาบาลในแต่ละจังหวัดได

ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง  ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า  ขยะเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศ หากไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี  จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน   ทั้งนี้ในช่วงที่ประเทศไทยรวมถึงทั่วโลกประสบกับปัญหาวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ในสถานประกอบการด้านสาธารณสุขต่าง ๆ  มีขยะติดเชื้อรวมถึงเครื่องมือ เครื่องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่สัมผัสเชื้อก่อโรคเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีการบำบัดอย่างถูกวิธีเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงสนับสนุนทุนวิจัยประจำปี  2563  ให้กับโครงการ “ การพัฒนาชุดผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีสารประกอบคลอรีนเป็นส่วนประกอบด้วยวิธีทางไฟฟ้าเคมี สำหรับบำบัดมูลฝอยติดเชื้อภายในสถานประกอบการด้านสาธารณสุข”  ซึ่งมี  “ ดร.สมศักดิ์ สุภสิทธิ์มงคล ” จากศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC)  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช)  เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อพัฒนาต้นแบบเครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสม  และพร้อมใช้งานจริงภายในสถานประกอบการด้านสาธารณสุขและโรงพยาบาล

ดร.สมศักดิ์ สุภสิทธิ์มงคล   หัวหน้าโครงการ ฯ เปิดเผยว่า  ในช่วงแรกที่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ หรือสารฟอกขาวเป็นที่ต้องการอย่างมากจนเกิด ขาดตลาด   จึงเกิดแนวคิดที่จะนำความรู้เรื่องเซลล์ไฟฟ้าเคมีมาประยุกต์ใช้ในการดัดแปลงระบบของเซลล์เชื้อเพลิงให้กลายเป็นเครื่องผลิตสารอื่นๆ ตามที่ต้องการ  ทั้งนี้คณะวิจัยที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาทั้งจาก ENTEC, MTEC และ BIOTEC สวทช.  ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้ออิเล็กโทรไลต์  ที่ใช้ชื่อว่า ENcase ”    โดยอาศัยหลักการเกิดปฏิกิริยาไฟฟ้าเคมีภายในเครื่องเปลี่ยนเกลือแกงหรือโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) ให้เป็นน้ำยาฆ่าเชื้ออิเล็กโทรไลต์ ที่เรียกว่า ENERclean”  ที่มีกรดไฮโปคลอรัส ( Hypochlorous acid : HOCl ) เป็นองค์ประกอบหลัก มีความเป็นกรดอ่อน (pH 4-6) ปริมาณคลอรีนมากกว่า 400 ppm และค่า Oxidation-reduction potential (ORP) ในช่วง 900-1200 mV  

ทั้งนี้กรดไฮโปคลอรัส เป็นกรดอ่อน ๆ ตามธรรมชาติชนิดเดียวกับภูมิคุ้มกันในเม็ดเลือดขาวของมนุษย์ เป็นสารออกซิไดซ์ที่มีประสิทธิภาพการยับยั้ง หรือฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรคผ่านตามเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้สามารถใช้ได้กับร่างกายโดยตรง หรือใช้ฆ่าเชื้อวัตถุและชำระล้างสารพิษตกค้างในอาหารสำหรับบริโภคและสามารถชะล้างด้วยน้ำล้างสะอาดออกได้   นอกจากนี้ในกระบวนการผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อดังกล่าว ยังสามารถผลิตโซดาไฟ (NaOH) ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย เช่น ใช้ทำความสะอาดคราบไขมันที่ตกค้างตามท่อเครื่องดูดควันที่ใช้ในการปรุงอาหารในโรงครัวหรืออุดตันตามท่อระบายน้ำต่าง ๆ ได้ 

สำหรับงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช.  ดร.สมศักดิ์  กล่าวว่า เป็นการต่อยอดพัฒนาน้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับใช้งานกับขยะติดเชื้อเป็นหลัก  มุ่งเน้นพัฒนาเครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้ออิเล็กโทรไลต์ที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบสำหรับใช้ภายในสถานประกอบการด้านสาธารณสุข  ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการผลิตและประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัส (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SARS-CoV-2 ) ซึ่งมีการทดสอบภายใต้สภาวะควบคุมในห้องปฏิบัติการ รวมถึงทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของชุดอุปกรณ์ต้นแบบภายใต้สภาวะใช้งานจริง พร้อมทั้งปรับปรุงรูปแบบการทำงานของต้นแบบให้มีความเหมาะสมต่อการใช้งานของกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด

ต้นแบบเครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อ   ENcase ที่พัฒนาขึ้น สามารถใช้งานได้หลายรอบด้วย  อัตราการผลิต 30 ลิตรต่อชั่วโมง  แบ่งเป็นน้ำยาฆ่าเชื้อ ENERclean 15 ลิตร และโซดาไฟ 15  ลิตร  ส่วนผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้ออิเล็กโทรไลต์ที่ได้จากเครื่องต้นแบบ มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา บนพื้นผิวที่ไม่มีรูพรุนได้ 59-60 carrier ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานทดสอบผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อก่อโรค (AOAC 955.14,  955.15, 955.17  และ 964.02)  อีกทั้งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อไวรัสก่อโรค เช่น Dengue virus, Japanese encephalitis virus, Zika virus  และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง SARS-CoV-2  โดยมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ SARS-CoV-2  บนพื้นผิวได้มากกว่า 99.9 % ตามมาตรฐานทดสอบ ASTM E1053-20

ปัจจุบันต้นแบบเครื่อง “ENcase” ถูกส่งมอบ และใช้ประโยชน์แล้วภายในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ ทั้ง 10  แห่งใน 4 จังหวัด คือ ที่ รพ.พหลพลพยุหเสนา  จ.กาญจนบุรี รพ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี  รพ.ยางชุมน้อย รพ.เมืองจันทร์ รพ.ศรีสะเกษ รพ.สต.โนนคูณ รพ.สต.บ้านผักขะ และรพ.สต.ยางชุมใหญ่ จ.ศรีสะเกษ   รพ.พะโต๊ะ รพ.ปากน้ำหลังสวน จ.ชุมพร  ส่วนผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อ  “ENERclean”  ถูกส่งมอบหน่วยงานราชการ  สถานศึกษา ไม่น้อยกว่า 1500 ลิตร สำหรับใช้ประโยชน์ในสถานการณ์ โควิด-19

นอกจากนี้ยังได้มีการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อ และสาธิตการทำงานของชุดต้นแบบสำหรับการผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อ (ENcase) รวมถึงเครื่องมือวิเคราะห์สมบัติของน้ำยาฆ่าเชื้อที่ผลิตได้ (ENERclean) ให้กับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทั้ง 10 แห่ง ใน 4 จังหวัดดังกล่าว จนมีความรู้ ความชำนาญสำหรับการผลิต วิเคราะห์สมบัติ ตลอดจนการนำผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อที่ได้ไปใช้งานจริงภายในหน่วยงาน

 งานวิจัยนี้นอกจากจะช่วยลดการนำเข้าเทคโนโลยีและสารเคมีในการผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อจากต่างประเทศแล้ว  ยังสร้างความตระหนัก และช่วยในการวางแผนจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อของเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยและคลินิกในแต่ละจังหวัด ช่วยลดปัญหามลพิษทางน้ำจากการชะล้างของสารเคมีตกค้าง เนื่องจากน้ำยาฆ่าเชื้อที่ผลิตได้จากต้นแบบเครื่อง ENcase  มาจากเกลือแกงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือมีความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างต่ำ  และยังลดปริมาณขยะติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  เนื่องจากเครื่องมือเครื่องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น Face shield  หรือ แว่นตานิรภัย สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ภายหลังผ่านการฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อแล้ว   อีกทั้งการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่ผลิตขึ้นจากต้นแบบ ยังเป็นการกำจัดเชื้อจุลชีพก่อโรคเบื้องต้น เพื่อควบคุมการแพร่ของเชื้อก่อโรค ระหว่างกักเก็บและขนย้ายไปเผาทำลายต่อไป.