เอ็นไอเอจับมือสถาบันเอเชียศึกษาและสถาปัตย์ จุฬาฯ ดึง 6 พรรคการเมืองร่วมเวทีดีเบตนโยบายนวัตกรรม

News Update

กรุงเทพฯ 3 พฤษภาคม 2566 – สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับสถาบันเอเชียศึกษา และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดพื้นที่ชวนตัวแทนพรรคการเมืองร่วมดีเบตนโยบายนวัตกรรมสู่การขับเคลื่อนประเทศด้วยมิติการเมืองใหม่ พร้อมโชว์วิสัยทัศน์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ – สังคมของประเทศไทยด้วยนวัตกรรมเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกับประชาชน นอกจากนี้ ยังเผยถึงนโยบายด้านนวัตกรรมกับการแก้ไขปัญหาของไทยตามแนวคิด 3C “Competitiveness – Corruption – Climate Change” ที่ผู้นำจำเป็นต้องนำนวัตกรรมมาเร่งสร้างการเปลี่ยนแปลง

             ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การเลือกตั้งที่ใกล้ถึงนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งของประเทศไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลายพรรคการเมืองได้ออกนโยบายเพื่อสร้างและพัฒนาประเทศให้มีพัฒนาการในด้านเศรษฐกิจ สังคม สวัสดิการ สาธารณสุข การศึกษา และอีกหลากหลายด้านตามบริบทวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป โดยการจะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้นั้น NIA เชื่อมั่นว่าควรนำ “นวัตกรรม” มาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อน และต้องทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่านวัตกรรมไม่ใช่แค่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation) เพียงอย่างเดียว แต่ปัจจัยทางนวัตกรรมจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ การจ้างงาน ความมั่นคงในชีวิตได้อย่างแท้จริง

             “นโยบายนวัตกรรมในประเทศไทยมักจะเป็นการพูดรวมกันระหว่างนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพราะมองว่านวัตกรรมมาจากการวิจัยและพัฒนา แต่จริง ๆ มีสิ่งที่ตรงประเด็นกว่านั้นคือ การสร้างบริษัทที่นำเทคโนโลยีและแนวคิดใหม่มาใช้ เนื่องจากพบปัญหาคือบริษัทที่ทำในด้านนวัตกรรมนั้นยังมีไม่มากพอ อีกทั้งการที่บริษัทจะโตในเศรษฐกิจฐานรากได้ ต้องสร้างบริษัทที่ทำด้านนวัตกรรมและขายได้ในระดับโลกให้เพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานระบบนวัตกรรมของไทยถูกผลักดันจากบริษัทขนาดใหญ่ด้านพลังงานทางเลือก การเกษตร และเคมี ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพต้องไปทำงานกับบริษัทขนาดใหญ่ รวมถึงการสร้างโอกาสให้นวัตกรรมไม่กระจุกตัวอยู่แค่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือบริษัทใหญ่ ๆ เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะจะช่วยลดปัญหาเรื่องของความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ได้ และบริษัทด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมควรจะเพิ่มขึ้นในฐานะของการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมในเมืองไทยอีกด้วย”

                ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการเพิ่มและการสร้างบริษัทด้านนวัตกรรมให้เพิ่มขึ้นในประเทศไทยแล้ว ในเร็ว ๆ นี้จะมีการเปลี่ยนแปลงภายใต้วาระของผู้นำคนใหม่ จึงควรมี “การวางนโยบายด้านนวัตกรรมของประเทศ” ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เนื่องจากจะเห็นได้ว่ากลุ่มประเทศที่เป็นสายแข็งในด้านเทคโนโลยี – นวัตกรรม ล้วนมีแผนจากรัฐบาลที่ชัดเจนว่าจะผลักดันอะไรของประเทศให้เป็นที่จดจำ สร้างมูลค่า จนไปถึงการเป็นแบรนด์ของประเทศให้เป็นที่รับรู้ของชาวโลก ซึ่งการมีแผนที่ชัดเจนยังทำให้สามารถส่งต่อไปยังหน่วยงานที่มีบทบาทส่งเสริมระบบนวัตกรรม ธุรกิจนวัตกรรม กลุ่มคนที่มีความสามารถให้ขับเคลื่อนแผน – แนวปฏิบัติได้อย่างตรงจุด รวมถึงเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในการนำแนวคิดไปพัฒนาธุรกิจ ทักษะความสามารถ และสะท้อนความสำเร็จกลับมาสู่รัฐในฐานะผู้วางนโยบายได้อีกด้วย

             ทั้งนี้ NIA เห็นความสำคัญของการนำนโยบายด้านนวัตกรรมมาร่วมขับเคลื่อนประเทศ จึงร่วมกับสถาบันเอเชียศึกษา และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดพื้นที่ให้ตัวแทนจากพรรคการเมืองได้ร่วมนำเสนอนโยบายนวัตกรรมสู่การขับเคลื่อนประเทศด้วยมิติการเมืองใหม่ พร้อมโชว์วิสัยทัศน์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ – สังคมของประเทศไทยด้วยนวัตกรรม  โดยวาระสำคัญที่ต้องการพรรคการเมืองได้นำเสนอแนวทางคือ 1. นโยบายเร่งด่วนด้านนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศใน 4 ปีข้างหน้า  2. นโยบายการส่งเสริมและพัฒนา 3S (SMEs – Startup – SE) โดยอาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พร้อมทั้งการกระจายโอกาสทางนวัตกรรมไปสู่ระดับพื้นที่ 3. นโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่และเมือง เพื่อสร้างอัตลักษณ์นวัตกรรมและดึงดูดการลงทุนและนวัตกร รวมถึงโอกาสการกระจายความเจริญระดับเมืองสู่ภูมิภาค (**กรุงเทพฯ ติดอันดับ 145 ของเมืองนวัตกรรมโลก)  4. นโยบายนวัตกรรมกับการแก้ไขปัญหาประเทศ: ความสามารถในการแข่งขัน – คอรัปชัน – การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะปัญหาค่าบริการสาธารณูปโภคที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน และ 5. การสร้างความรู้ ความเช้าใจ และการรับรู้ให้ประชาชนมองว่านวัตกรรมเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศ

             ดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่า ในวาระเร่งด่วนของประเทศไทย NIA ยังคงมองประเด็นการส่งเสริมนวัตกรรมภายใต้โมเดล 3C คือ Competitiveness ซึ่งเป็นการส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขันของบริษัทนวัตกรรมให้มีมากขึ้น เพราะบริษัทที่แข่งขันได้ล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่เติบโตในระดับโลกหมดแล้ว มีจำนวนไม่มาก และอาจยังไม่สามารถสะท้อนความเป็นชาติแห่งนวัตกรรมของไทยได้มากนัก จึงต้องเร่งสร้างแบรนด์นวัตกรรมไทยระดับโลกโดยบริษัทขนาดใหญ่ ส่งเสริมอุตสาหกรรมอนาคต เพื่อการเติบโตระยะยาว รวมถึงเสริมสร้างการสร้างงานนวัตกรรมและเจ้าของกิจการรุ่นใหม่ ส่วนต่อมาคือ Corruption หมายถึง การแสดงออกถึงความโปร่งใส ควรมีนวัตกรรมที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการทำงานของรัฐได้หลายรูปแบบ โดยเฉพาะนวัตกรรมการเงินและงบประมาณภาครัฐ นวัตกรรมตรวจสอบและระบบยุติธรรมภาครัฐ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและก้าวไปในทิศทางที่ดีขึ้น และส่วนสุดท้ายคือ Climate Change ซึ่งเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ขยะ ฝุ่น PM 2.5 รถติด การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ตามเจตนารมณ์โลก ซึ่งเหล่านี้ผู้นำและผู้กำหนดนโยบายล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น

             รศ. ดร. ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราคิดและสร้างนโยบายนวัตกรรมแบบทุนนิยม โดยละเลยการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปในความหมายของนวัตกรรมตามความหมายของโจเซฟ ชุมปีเตอร์ ที่กล่าวว่าเป็นการทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ (Creative Destruction) เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ บริการใหม่ กระบวนการใหม่ หรือตลาดใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็จะทำลายสิ่งเก่า ซึ่งความท้าทายในแต่ละยุคสมัยมักจะมาพร้อมนวัตกรรม นั่นคือความสามารถของสังคมและพวกเราทุกคนในการหาจุดที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากนวัตกรรม อย่างไรก็ตาม โดยหลักการแล้วนวัตกรรมจำเป็นและมีพลังมากพอที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ นอกจากนี้ นวัตกรรมก่อให้เกิดความสามารถด้านการแข่งขัน ลดการพึ่งพา และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนในสังคมได้

             รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ กล่าวว่า โจทย์สำคัญของไทยคือประชากรในโลกเกิน 50 % อยู่ในพื้นที่เมือง และคาดการณ์ว่าอีก 30 ปีข้างหน้า อาหารที่มีในโลกจะรองรับประชากรได้เพียงครึ่งหนึ่งของความต้องการอาหารทั้งหมด จึงต้องขยายความสามารถในการรองรับความต้องการของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปให้สมดุลกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยบริหารจัดการทรัพยากรที่มีจำกัด สำหรับนวัตกรรมเชิงพื้นที่ที่ภาควิชาการวางแผนภาคและเมืองได้ออกแบบย่านนวัตกรรมจะมี 3 องค์ประกอบหลัก คือ 1.พื้นที่ที่มาจากศูนย์ค้นคว้าและวิจัยระบบพร้อมพัฒนานวัตกรรมในสถาบันการศึกษา หรือแหล่งผลิตที่มีองค์ความรู้พื้นฐาน 2.พื้นที่ที่มีการผลิตซ้ำในเชิงอุตสาหกรรม และ 3. พื้นที่ทดลองใช้ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเมือง โดยต้องออกแบบพื้นที่ใหม่หรือปรับปรุงพื้นที่เดิม เช่น ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ซึ่งเป้าหมายไม่ใช่เพื่อทำรายได้จากการแพทย์ยุคใหม่ แต่มุ่งให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์คุณภาพดีในราคาที่เหมาะสมผ่านการแบ่งปันเครื่องมือ โครงสร้างพื้นฐาน และการคมนาคม และย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารที่จังหวัดขอนแก่น จะเห็นได้ว่านวัตกรรมเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอนในอนาคต และต้องการพื้นที่เมืองรองรับ ทั้งเมืองและชนบทต้องเกื้อกูลกัน เช่น วัตถุดิบที่ต้องการอาจอยู่ในพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม แต่ต้องการพื้นที่เมืองในการต่อยอดและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อกลับไปพัฒนาพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม ประเทศไทยต้องเดินไปในทิศทางที่สอดคล้องกับศักยภาพ ข้อจำกัด และโอกาสของประเทศได้อย่างเหมาะสม

             นายวรนัยน์ วาณิชกะ พรรคชาติพัฒนากล้า ให้ความเห็นว่า วาระเร่งด่วนของการพัฒนานวัตกรรมในประเทศไทยคือการสร้างระบบราชการที่ดี ให้มีแนวคิด Good Governance ดังเช่นประเทศชั้นนำในเอเชียอย่างญี่ปุ่นที่มีระบบราชการที่ดีและทันสมัยมาก สำหรับปัจจุบันจะเห็นได้ว่าระบบราชการไทยยังไม่ตอบโจทย์บริบทการเปลี่ยนแปลง และความต้องการของผู้คนมากนัก บางส่วนมีความล้าช้า ไม่ทันสมัย ซึ่งแนวทางที่จะต้องดำเนินโดยเร็วคือ “การสร้าง GOVTECH หรือระบบเทคโนโลยีภาครัฐ” ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเร็ว เชื่อมกันเป็น ONE STOP SERVICE ทำทุกธุรกรรมโดยไม่ต้องเดินทางมาก นอกจากนี้ ยังต้องมีระบบเทคโนโลยีรัฐที่สามารถตรวจสอบได้เพื่อให้เกิดความไว้วางใจ แสดงถึงความโปร่งใสในการดำเนินงาน โดยเชื่อว่าหากได้ทำทันทีจะทำให้วิถีชีวิตของประชาชนเป็นไปในทางที่ดีขึ้น

             รศ.(พิเศษ) ดร ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง พรรคร่วมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า สำหรับนโยบายนวัตกรรมที่จำเป็นและเร่งด่วนของประเทศไทยมองเป็น 3 ประเด็นสำคัญ คือ “การศึกษา” ที่ต้องกำหนดร่วมกันว่าควรมีทิศทางอย่างไรเพื่อให้ทันสมัยและสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในบริบทโลก ส่วนที่สองคือ “การสร้างแต้มต่อให้กับสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี” ซึ่งมีจำนวนมากให้มีโอกาสเติบโตและร่วมกันสร้างรายได้ โดยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น หนุนภาครัฐให้มีการจัดซื้อจัดจ้างกลุ่มคนเหล่านี้ให้มากกว่าที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานภาครัฐและมีเวทีที่จะให้สตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีเติบโตได้มากขึ้น ประการสุดท้ายคือ “การอัพสกิลและรีสกิล” คนในแต่ละพื้นที่ให้มีทักษะที่สอดคล้องกับบริบทของจังหวัดและภูมิภาค รวมถึงหนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้ทุกคนสามารถทำสิ่งที่ตอบโจทย์กับบริบทเมือง

             นายแทนคุณ จิตต์อิสระ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนที่ให้ความสำคัญในขณะนี้ คือ 3 E ซึ่งได้แก่ Economic Environment และ Energy โดยจะเพิ่มในประเด็นของซอฟต์พาวเวอร์ที่เป็นคีย์หลักในเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของสังคมไทยและธุรกิจเพื่อสังคมให้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของประเด็นของ BCG ที่เป็นเทรนด์หลักในแง่ของการส่งเสริมเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดนี้รวมอยู่ในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นความสัมพันธ์ที่สมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายที่จะผลักดันร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด เพื่ออนาคตที่สวยงามยิ่งขึ้น สร้างเมตาเวิร์สและโลกเทคโนโลยีคู่ขนาน เพื่อลดการเคลื่อนไหวผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หาโซลูชันใหม่ๆ ด้านพลังงาน เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เราอยู่รอดได้ในอนาคต

             นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัจจุบันรายได้จาการวิจัยและพัฒนามีเพียง 1.33% ต่อGDP เท่านั้น จึงของเสนอ 1. การเตรียมความพร้อมโครงสร้างทางการเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ทุกภาคส่วน 2. การศึกษาผ่านแพลตฟอร์ม ผ่านแนวคิด learn to earn การสร้างระบบการจัดคู่งานกับคนให้มีความทันสมัย และ 3. ปลดล็อกศักยภาพรัฐบาลดิจิทัลที่มีรูปแบบ One stop service เพื่อลดระยะเวลาในการดำเนินงานกับหน่วยงานราชการ นอกจากนี้ โครงการหรือระบบเกี่ยวกับกระเป๋าเงินดิจิทัลและบล็อคเชนต้องสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐได้

             นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วน 3 ข้อที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีสามารถเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาได้ คือ 1. ความเหลื่อมล้ำ เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างดิจิทัลไอดี เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงสวัสดิการภาครัฐได้ง่ายและรวดเร็ว โดยไม่ต้องลงทะเบียนและร้องขอตามสิทธิของประชาชน รวมถึงช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านการแพทย์ทางไกล การศึกษา และการเรียนรู้ออนไลน์ 2.ปัญหาการทุจริตคอรัปชัน เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มีสิทธิในการโหวตการใช้งบประมาณ การนำนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มความโปร่งใส ลดการใช้ดุจพินิจ ประชาชนสามารถเสนอถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นได้โดยตรงผ่านแอพพลิเคชันครบจบในที่เดียว และ 3. การสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เป็นเรื่องสำคัญ จึงจะมีการเพิ่มสัดส่วนงบประมาณภาครัฐอุดหนุนด้านการวิจัย ประเทศไทยเปรียบเทียบกับสวิตเซอร์แลนด์สัดส่วน GDP งบประมาณภาครัฐที่ไปลงทุนในงานวิจัยต่างกันถึงพันเท่า อันนี้เป็นข้อแตกต่างของไทยกับประเทศที่มีนวัตกรรมที่หลากหลาย

             นายเทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าอันดับแรกพื้นฐานของนวัตกรรมคือคน ดังนั้น การศึกษาต้องเปลี่ยนผลลัพธ์ต้องจับต้องได้ มายด์เซ็ตของคนก็ต้องเปลี่ยนด้วยการสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรม อันดับที่ 2 คือ การส่งเสริมให้ลงมือทำ เนื่องด้วยอุปกรณ์ของเราที่มีน้อย เอกชนต้องทำเอง ภาครัฐต้องสร้างหรือสนับสนุนเครื่องมือเหล่านี้มาให้ประชาชน และต้องสร้างเครือข่ายกับต่างประเทศ รวมถึงต้องมีเงินทุนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ