“ บ้านโป่งทาปิโอก้า ” ทรานสฟอร์มธุรกิจด้วยวิจัยและนวัตกรรมจากโรงงานแป้งมัน สู่ “ Texture House Company ”

Cover Story

             สำหรับในวงการอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก “ บริษัทอุตสาหกรรมแป้งมันบ้านโป่ง จำกัด”  ที่ก่อตั้งมานานถึง 50 ปี และปัจจุบันได้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมบนพื้นฐานของการทำวิจัยและพัฒนาในการทรานสฟอร์มจากธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว มาเป็น “บริษัทบ้านโป่งทาปิโอก้า จำกัด” ที่มุ่งเน้นการเป็น  “Texture House Company” ให้บริการ “Texture Solution”  เพื่อตอบโจทย์ทุกอุตสาหกรรมที่มีปัญหาเกี่ยวกับเนื้อสัมผัส

             “นายประสิทธิ์ สุขสมิทธิ์”  กรรมการผู้จัดการ บริษัทบ้านโป่งทาปิโอก้า จำกัด  เล่าถึงที่มาของบ้านโป่งทาปิโอก้า ว่า เกิดขึ้นจากการทรานสฟอร์มธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว คือ บริษัทอุตสาหกรรมแป้งมันบ้านโป่ง จำกัด ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี ค.ศ. 1973 หรือ 50 ปีที่ผ่านมา เพื่อแปรรูปมันสำปะหลังเป็นแป้งมันสำปะหลัง ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบริษัทเติบโตและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องมาตามลำดับ ท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังในประเทศไทยที่มีมากกว่า 80 บริษัท

             “เมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา เรามีการหารือกันในกลุ่มผู้บริหารซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 2   เกี่ยวกับวิสัยทัศน์และทิศทางการเติบโตของบริษัทในอนาคตว่าจะส่งต่อให้กับทายาทรุ่นต่อไปอย่างไร ซึ่งได้ข้อสรุปที่ตรงกันว่าหากอยากจะเติบโตมากกว่านี้ เราจะคิดและทำแบบเดิม ๆ เหมือนที่ผ่านมาไม่ได้ และนี่คือจุดเริ่มต้นของการ Disrupt ตัวเอง  จนกระทั่งเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว บริษัทก็ได้ตัดสินใจลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างโรงงานใหม่ กว่า 800 ล้านบาท  เพื่อเริ่มต้นการผลิตแป้งสำหรับ Food Texture Solution ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของบริษัท หลังจากนั้นบริษัทได้ผลิต Food Texture และ Ingredients  ส่งออกไปขายใน 21 ประเทศทั่วโลก โดยมีโรงงานผลิตอยู่ที่จังหวัดราชบุรีและกาญจนบุรี ”

             สำหรับเส้นทางการเติบโตด้วยนวัตกรรมของบ้านโป่งทาปิโอก้า นายแพทย์สมิทธิ์ สุขสมิทธิ์  รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายงานนวัตกรรม  กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรรม และเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศของโลกที่สามารถผลิตอาหารได้มากกว่าใช้บริโภคเองในประเทศ จึงกลายเป็นประเทศที่ส่งออกอาหารและมักจะเรียกกันว่าเป็น “ครัวของโลก”     โดยไทยส่งออกสินค้าด้านอาหารและเกษตรกรรมมากถึง 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี และเป็นผู้นำของโลกในกลุ่มสินค้า เช่น ทูน่ากระป๋อง สัปปะรดกระป๋อง ข้าวโพดหวาน  ทุเรียน รวมถึงมันสำปะหลัง ซึ่งไทยส่งออกเป็นอันดับหนึ่งมาโดยตลอด 30-40 ปี   ล่าสุดการส่งออกมันสำปะหลัง มีมูลค่าประมาณ  150,000 ล้านบาท  เป็นแป้งมันสำปะหลังดิบ  หรือ Native Starch ประมาณ100,000 ล้านบาท และแป้งมันสำปะหลังดัดแปรหรือ  Modified Starch ประมาณ 50,000ล้านบาท   ขณะที่ในประเทศไทยอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่าสูงถึง 1 ใน 4 ของจีดีพีของประเทศ  และมีแรงงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง กว่า 12 ล้านคน

             “ จาก 50 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันบ้านโป่งทาปิโอก้า มีพนักงาน  550 คน   โรงงาน 11 แห่ง มีลูกค้ากว่า 200 ราย กระจายอยู่ใน 21 ประเทศทั่วโลก  การที่จะอยู่ได้อย่างยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องมีจุดแข็งที่แตกต่างไปจากบริษัทอื่น ๆ  และนั่นก็คือจุดเปลี่ยนเมื่อปี  2560 ที่มีการลงทุนกว่า 800 ล้านบาทในการก่อสร้างโรงงาน โดยเป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดยคนไทย 100 % และมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา โดยมีพนักงานในส่วนของการวิจัยฯ มีประมาณ 45 คน  ทั้งนี้ได้ตั้งเป้างบประมาณในการวิจัยประมาณ 2 % ของรายได้”  

             นายแพทย์สมิทธิ์ กล่าวว่า  ผลจากการทรานสฟอร์มธุรกิจ จากบริษัทที่ทำธุรกิจดั้งเดิมและมีการเติบโตต่อเนื่องในระดับเกือบ 1,000  ล้านบาท แต่ในช่วงระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา   บ้านโป่งทาปิโอก้า มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยยอดขายล่าสุดในปี2565 อยู่ที่ 1,763  ล้านบาท ทำให้ยอดขายรวมในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา  สูงกว่าการดำเนินธุรกิจในช่วง 30 ปีแรกของบริษัท เนื่องจากมูลค่าสินค้าที่ขายเพิ่มมากขึ้น  โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากแป้งมันแบบดั่งเดิม  ที่เคยเป็นสินค้าหลักของบริษัทมากว่า 40 ปี เหลือเพียง 10 % ของยอดขายรวมทั้งหมด ทำให้เรามีความมั่นใจว่าเดินมาถูกทางแล้ว

             “ เราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากมันสำปะหลังธรรมดากิโลละ 3 บาทมาเป็น Native Starch หรือแป้งมันสำปะหลังดิบกิโลกรัมละ12 บาท และนำเอาแป้งมันกิโลกรัมละ12 บาทนี้มาผ่านกระบวนการแปรรูปพื้นฐาน Basic Modified สามารถเพิ่มราคาขึ้นอีกหนึ่งเท่าตัวคือกิโลกรัมละ  25 บาท  และเมื่อเราทำ Texture Solution ก็สามารถที่เพิ่มมูลค่าได้อีกเป็นกิโลกรัมละ 50  บาท  แต่ที่เรากำลังจะทำต่อนั้น  เรากำลังจะแปลงแป้งมันสำปะหลังเหล่านี้ให้เป็น Nutrition หรือสารอาหารที่มีมูลค่าตั้งแต่กิโลกรัมละ 100 บาทขึ้นไป  สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงมูลค่าเพิ่มในแต่ละขั้นตอนที่ใส่นวัตกรรมเข้าไป”

             และจากจุดเปลี่ยนนี้เอง ทำให้ “บ้านโป่งทาปิโอก้า”  ไม่ได้เป็นแค่โรงงานผลิต แต่เป็นการเอางานวิจัยและนวัตกรรมมาเป็นหัวใจหลักของบริษัท   โดยมีทั้งการพัฒนานวัตกรรมในการผลิต  มีการนำเทคโนโลยี เช่น ระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้และผลิตตามมาตรฐานความปลอดภัยต่าง ๆ   มีการพัฒนาสินค้าที่เน้นด้าน Texture Solution for food ,Specialized Nutrition for Health และ Lifestyle Products  มีการพัฒนาระบบไอทีและกระบวนการในการทำนวัตกรรม และมีการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่เป็นวัตถุดิบต้นน้ำ  

             ปัจจุบัน บ้านโป่งทาปิโอก้า ผลิตสินค้าเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม  คือ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร (Food Industry) โดยพัฒนาเนื้อสัมผัสในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ความนุ่ม แน่นเนื้อ กรอบ แข็ง เปราะ ฉ่ำ เนียน หยาบ เหนียว และ ความเป็นเส้นใย เป็นต้น  กลุ่มอุตสาหกรรมยา (Pharma Industry) โดยการพัฒนาแป้งมัน ไปดัดแปรเนื้อสัมผัส ที่นำไปเป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อสุขภาพ   อาหารทดแทน รวมไปถึงอาหารทางการแพทย์ หรืออาหารเฉพาะสำหรับผู้ป่วยในกลุ่มต่างๆ อาทิ ผู้ป่วยโรคไต เบาหวาน มะเร็ง ฯลฯ และกลุ่มอุตสาหกรรมกระดาษ (Paper  Industry) โดยพัฒนาแป้งมันให้มีคุณสมบัติ สำหรับนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในขั้นตอนการขึ้นรูป เพิ่มความแข็งแรง และการเคลือบผิวหน้ากระดาษ เป็นต้น

             สำหรับสัดส่วนรายได้ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันว่า  นายแพทย์สมิทธิ์  บอกว่า เป็นกลุ่มแป้งมันสำปะหลังดิบแบบดั้งเดิม  ประมาณ 10 %  กลุ่มแป้งมันที่มีการดัดแปรพื้นฐาน (Basic Modified Starch) ซึ่งมีบริษัทไทยไม่เกิน 5 แห่งที่ทำได้  ประมาณ 40 %  กลุ่ม High Value Food  หรือ Texture Solution  ซึ่งเป็นผลจากการทรานสฟอร์มเมื่อ 6  ปีที่แล้ว ประมาณ 40 %  และกลุ่ม Nutrition/lifestyle  ประมาณ 2 % ซึ่งกลุ่มหลังนี้แม้จะยังมีสัดส่วนที่น้อยแต่กำลังเป็น “Rising Star” ของบ้านโป่งทาปิโอก้า

             “ จากการที่เรามุ่งเน้นมาทั้งหมด ปัจจุบันเรามาถึงจุดเปลี่ยนที่สองของบริษัท  จากการเปลี่ยนครั้งแรกเมื่อ 6 ปีก่อน  เรามองว่าแพลตฟอร์มที่เราทำมานั้นถูกทางแล้ว ดังนั้นเราจะทรานสฟอร์มอีกครั้ง โดยมุ่งเน้นเรื่องของ Texture มากขึ้น มุ่งเน้นการทำวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น  และมุ่งเน้นสู่การเป็น Nutrition Company ในลำดับต่อไป”   

             ด้าน นายกิตติ สุขสมิทธิ์  รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายซัพพลายเชนของบ้านโป่งทาปิโอก้า  กล่าวว่า ในการผลิตแป้งนวัตกรรมชั้นสูงของบ้านโป่งทาปิโอก้านั้น นอกจากการทุ่มเทพัฒนาและวิจัยอย่างต่อเนื่องในห้องปฎิบัติการแล้ว บริษัทก็ยังให้ความสำคัญต่อตัววัตถุดิบที่นำมาผลิตไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะวัตถุดิบที่ดีจะช่วยเสริมให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น  ปัจจุบันบริษัทใช้มันสำปะหลังสายพันธุ์พิเศษ  มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตแป้งลูเซนท์ (LUCENT) ชนิดต่างๆ ซึ่งจุดเด่นของมันสายพันธุ์พิเศษนี้เมื่อมาบวกกับการวิจัยของบ้านโป่งทาปิโอก้า ทำให้ได้แป้งที่ผลิตออกมามีคุณสมบัติเทียบเท่ากับแป้งจากมันฝรั่งที่ขึ้นชื่อว่าเป็นวัตถุดิบราคาแพง

             “ปัจจุบันเรามีการส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายปลูกมันสายพันธุ์พิเศษและรับซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด 150% ผ่านรูปแบบคอนแท็กฟาร์มมิ่ง โดยเกษตรกรที่เข้ามาเป็นสมาชิกภายใต้เครือข่ายดังกล่าวจะได้รับการดูแลจากบริษัทอย่างครบวงจร เริ่มตั้งแต่ การเพาะท่อนพันธุ์ ให้กับเกษตรกรเพื่อนำไปใช้ในการปลูก ระหว่างทางก็จะมีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยดูและให้คำปรึกษา จนกระทั่งถึงช่วงของการเก็บเกี่ยว ขนส่ง ผลผลิตเข้าสู่โรงงาน ทั้งนี้การดำเนินงานดังกล่าวนอกจากจะเข้ามาช่วยลดภาระของเกษตรกรแล้ว ยังจะช่วยให้บริษัทมีโอกาสได้เข้ามาควบคุมคุณภาพการเพาะปลูกได้โดยตรงแล้วยังสามารถนำมาใช้ในการวางแผนการผลิตภายในบริษัทได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น  นอกจากนี้บริษัทยังได้เริ่มมีการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบทางการเกษตร ในกลุ่มธัญพืช เพื่อนำมาพัฒนาเป็นแป้งที่มีมูลค่าสูง อย่างเช่นถั่วเขียว ถั่วขาว และข้าว เป็นต้น”

             อย่างไรก็ดีตลอดระยะเวลาในการดำเนินธุรกิจ  บ้านโป่งทาปิโอก้า ยังให้ความสำคัญกับการผลิตที่คำนึงถึงความยั่งยืนตามหลักของ BCG Model ดังจะเห็นได้ว่าในกระบวนการแปรรูปมันสำปะหลังของบริษัทไม่มีส่วนใดที่เหลือทิ้ง ทุกส่วนของมันสำปะหลังนำมาใช้หมุนเวียนและเพิ่มมูลค่าในระบบเศรษฐกิจภายในชุมชน  และบางส่วนก็แปลงกลับมาเป็นรายได้ให้กับบริษัท เช่น มีการใช้ประโยชน์จากน้ำเสียเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ ส่วนกากมันสำปะหลังขายเพื่อเป็นอาหารสัตว์ หรือแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรนำไปเพาะเห็ด รวมถึงนำไปวิจัยและพัฒนาเป็นสินค้าในกลุ่มไลฟ์สไตล์ เช่น ทรายแมวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม    ทำให้ในแต่ละปีบริษัทมีรายได้จากการนำของเหลือใช้ไปเพิ่มมูลค่าปีละประมาณ 2 – 3% ของยอดขาย รวมถึงยังมีรายรับจากการขายคาร์บอนเครดิตปีละกว่าหนึ่งล้านบาท

             ขณะที่ นายปริญญ์ สุขสมิทธิ์ ผู้จัดการส่วนงานพัฒนาธุรกิจ   ทายาทรุ่นที่ 3 กล่าวว่า สิ่งที่บ้านโป่งทาปิโอก้า ต้องการสื่อสารกับตลาด และส่งมอบให้กับลูกค้า ไม่ใช่ความเป็นผู้เชี่ยวชาญในการแปรรูปมันสำปะหลัง แต่เป็นการนำเสนอองค์ความรู้ด้านโครงสร้างของคาร์โบไฮเดรต ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับเนื้อสัมผัสให้กับผลิตภัณฑ์ของลูกค้า โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม  ซึ่งล่าสุดได้มีการเปิดสำนักงานในกรุงเทพฯ เพื่อรองรับกิจกรรมต่างๆที่จะทำร่วมกับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ

             โดยสำนักงานในกรุงเทพของบริษัท จะเป็นศูนย์กลางการให้บริการ ตลอดจนเป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการวิจัย สถานที่ทำเวิร์กช็อประหว่างบริษัทกับลูกค้า หรือระหว่างบริษัทกับตัวแทนจำหน่าย  เพื่อนำโจทย์หรือปัญหาเกี่ยวกับเนื้อสัมผัสมาศึกษาและมองหาโซลูชั่นในการแก้ปัญหาร่วมกัน 

             นอกจากนี้ในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา  บ้านโป่งทาปิโอก้า ยังได้พัฒนาแป้งนวัตกรรมสำเร็จรูปที่เข้าไปตอบโจทย์ผู้ประกอบการ SMEs และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ ภายใต้แบรนด์ “บ้านโป่งฟูจิซัง” ซึ่งสินค้าในรูปแบบดังกล่าวนอกจากเพื่อการทดลองและเปิดตลาดใหม่ๆ แล้ว ยังใช้เป็นสื่อกลางในการให้ความรู้กับตลาดและเป็นสะพานเชื่อมให้กลุ่มเป้าหมาย หรือ ธุรกิจที่กำลังมองหาโซลูชั่นที่จะเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องเนื้อสัมผัส สามารถเข้าถึงบริษัทได้ง่ายขึ้นอีกด้วย.