บพข.หนุนวิจัยรองรับการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โชว์กิจกรรมนำร่องเส้นทางภูเก็ต-กระบี่ ลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้กว่า 15 %

Cover Story นวัตกรรมยั่งยืน

              ปฎิเสธไม่ได้ว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคที่ทุกภาคส่วนกำลังให้ความสำคัญกับเรื่อง “ความยั่งยืน” หรือ “ Sustainability”  ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการขยับจากภาคสมัครใจสู่ภาคบังคับมากขึ้น โดยเฉพาะการเริ่มใช้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ กับอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งกำเนิดปัญหาสำคัญ ๆ ของโลก ทั้งเรื่องมลพิษ  การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ  รวมถึงปัญหาโลกรวน  ที่ไม่ใช่แค่โลกร้อน แต่ยังครอบคลุมถึงความผิดปกติของสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นผลจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก  

              และใน “ภาคการท่องเที่ยว” ก็เช่นกัน แม้จะเป็นอุตสาหกรรมบริการ ที่คาดว่าจะมีการกำหนดกฎเกณฑ์บังคับหลังจากภาคการผลิต แต่ก็มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ คิดเป็นร้อยละ 8 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของโลก  

              แนวโน้มการท่องเที่ยวของโลก จึงมุ่งสู่ “การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อม” มากขึ้น รวมถึงประเทศไทย ซึ่งภาคการท่องเที่ยวถือเป็นส่วนสำคัญที่มีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างกลไกให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยมุ่งสู่ความยั่งยืน และเดินหน้าสร้างความพร้อมให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยในการรับมือกับการแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งจะใช้กฎระเบียบและข้อบังคับด้านความยั่งยืนในอนาคต 

              ล่าสุด… กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้ร่วมมือกับสมาคมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) จัดกิจกรรมนำร่องการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและกระบี่ เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมี “นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์” เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เข้าร่วมในกิจกรรม

               …โดยเส้นทางการท่องเที่ยวดังกล่าวเป็นผลจากการวิจัยและพัฒนาที่ดำเนินภายใต้การสนับสนุนทุนของ บพข. กองทุน ววน. (วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)   ในการพัฒนาแผนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (พื้นที่จังหวัดภูเก็ต และกระบี่) โดยมีการทำงานร่วมกันของมหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย  (TEATA)   ซึ่งได้เข้าไปศึกษาลงลึกในเชิงพื้นที่ เพื่อพัฒนาแผนการท่องเที่ยวโดยชุมชน ผลักดันให้คนในชุมชนสามารถพัฒนาทักษะและดึงอัตลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นมาเป็นจุดขาย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงให้อยากมาสัมผัสเสน่ห์ของวิถีชุมชน ร่วมทำกิจกรรมกับคนในชุมชน สร้างความรู้สึกของการมีส่วนร่วม และอยากกลับมาเยือนซ้ำ…

               รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์  ผู้อำนวยการ บพข.  กล่าวว่า  การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ด้วยกิจกรรมท่องเที่ยวจะช่วยเสริมแกร่งการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างตรงจุด เป็นการส่งเสริมและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทย และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของโลกที่เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม

              ทั้งนี้ บพข. ภายใต้แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมี  “ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช” ประธานอนุกรรมการแผนงานฯ และคณะอนุกรรมการ ที่ครอบคลุมภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมพลังขับเคลื่อน เน้นการออกแบบแผนงานวิจัยเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนและผู้ให้บริการในภาคการท่องเที่ยว  ได้เริ่มต้นแผนงานการท่องเที่ยวแบบ Carbon Neutral Tourism (CNT) เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ตั้งแต่ปี 2564 ผ่านความร่วมมือภาคีเครือข่าย 3 กระทรวง 8 ภาคี คือ สกสว./บพข.  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. หอการค้าไทย/สมาคมหอการค้าไทย และที่สำคัญมีภาคเอกชน คือ สมาคมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) ร่วมคิด ร่วมทำและขับเคลื่อนงานด้วยกัน

               ผู้ประกอบการและคณะวิจัยได้ร่วมกันออกแบบโปรแกรม และกิจกรรมการท่องเที่ยวให้เป็นที่ยอมรับระดับสากลเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพ  ผู้ประกอบการสามารถขายได้จริง สร้างรายได้ให้กับประเทศได้จริง อีกทั้งยังกระจายการนำแนวคิด CNT มาใช้ในการท่องเที่ยวต่างๆ กับฝั่ง Supply อาทิ การท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม (ฝั่งอันดามัน/อ่าวไทย/เขตอุทยานแห่งชาติ) เชิงเกษตร วิถีแห่งสายน้ำ เชิงอาสาสมัคร เชิงกีฬา เป็นต้น

                “ ในปี 2566  มีผลิตภัณฑ์/เส้นทาง/บริการทางการท่องเที่ยว รวมทั้งผู้ประกอบการและชุมชนที่มีความพร้อมในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ กว่า 450 ราย มีเครือข่ายระดับประเทศราว 10 หน่วยงาน เครือข่ายระดับพื้นที่และ DMC (Destination Management Company) หรือทัวร์เอนเจนซี่ที่อยู่ในพื้นที่ ราว 50 องค์กร รวมทั้งสถาบันการศึกษาจาก 20 มหาวิทยาลัย นักวิจัยมากกว่า 200 คน”

              รศ.ดร.ธรรมศักดิ์  ยีมิน  ผู้อำนวยการแผนงานการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ บพข. กล่าวว่า งานวิจัยที่อยู่ภายใต้แผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ฯ มีงานวิจัยที่ครอบคลุมทุกภูมิภาคและทุกระบบนิเวศ โดยมีความร่วมมือบูรณาการทำงานร่วมกันกับผู้ประกอบการที่จะเข้ามาช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หนุนเสริมด้านการตลาด จนนำไปสู่การขายการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์  

              อย่างเช่น งานวิจัย “การพัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย” ที่ได้ดำเนินการชดเชยการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเล  ซึ่งเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศด้วยธรรมชาติ (Nature-based solutions) ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศด้วยระบบคาร์บอนสีน้ำเงิน (Blue carbon) เช่น การปลูกป่าชายเลน การฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล เป็นต้น  

              นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอตัวอย่างของโปรแกรมการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์สำหรับกิจกรรมดำน้ำตื้น 4 เกาะ (ทะเลแหวก) จังหวัดกระบี่  โดยผู้ประกอบการจาก Railay local travel ที่ถือเป็นผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเลที่ผ่านการอบรมมาตรฐานการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย  มีแผนการจัดการด้านความปลอดภัยเป็นอย่างดี  มีการจัดการดูแลเครื่องยนต์ คู่มือแนะนำการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแบบสองภาษา การลดขยะจากขวดน้ำและการจัดการอาหารว่างในระหว่างท่องเที่ยว เป็นต้น

              ด้านนางรัชดาภรณ์  โออิน ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ นับเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่หันมาดูแลเอาใจใส่สิ่งแวดล้อมรอบตัว ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งภาคธุรกิจและประชาชนได้กลับมาครึกครื้นอีกครั้ง ขณะที่ทิศทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต คือ ทะเล ชุมชน และอาหาร เพราะภูเก็ตมีทรัพยากรทางทะเลที่สวยงามและมีความอุดมสมบูรณ์  มีชุมชนที่เป็นอัตลักษณ์ อย่างย่านเมืองเก่าภูเก็ต รวมถึงอาหารการกินที่มีการใช้วัตถุดิบพื้นถิ่น จึงใช้ 3 สิ่งนี้เป็นจุดขายผนวกกับการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์  สนับสนุนให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ ชุมชนหรือธุรกิจท่องเที่ยว เน้นการนำเสนอสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หันมาใช้วัสดุทางธรรมชาติเป็นแพ็คเกจจิ้งที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่ำกว่า ใช้วัตถุดิบในพื้นที่ในการปรุงอาหาร มีกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่รบกวนธรรมชาติ เช่น การพายเรือคายัค รวมถึงการปลูกป่าชายเลน เพื่อชดเชยคาร์บอน  

              ขณะที่นายดอน  ลิ้มนันทพิสิฐ ประธานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ทางชุมชนได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับจากงานวิจัยมาออกแบบกิจกรรมที่พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง เช่น กิจกรรมท่องเที่ยวย่านเก่า วิถีใหม่ด้วยรถจักรยาน รถจักรยานไฟฟ้า และสกู๊ตเตอร์ ชมงานหลังบ้านด้านการจัดการพลังงานและขยะ กิจกรรม Sand Spa การจับจักจั่นทะเล และการปลูกผักลิ้นห่าน ที่ชุมชนไม้ขาว กิจกรรมนวดแผนไทย การมัดย้อมสีธรรมชาติและบาติกไขมันปาล์มผ้าที่ใช้แล้วเพื่อสร้างรายได้วิสาหกิจชุมชน และการทำเครื่องดื่มคาร์บอนต่ำจากวัตถุดิบชุมชนห้วยน้ำขาว เป็นต้น    

               อย่างไรก็ดี.. การทำกิจกรรมต่างๆ ในเส้นทางนำร่องนี้ จะบรรลุเป้าหมายเป็น “การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” ไม่ได้ … หากขาดเครื่องมือสำคัญในการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดระยะเวลาในการดำเนินกิจกรรม  อย่าง แอพพลิเคชัน “ Zero Carbon ”  ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุน ววน. สกสว. โดย บพข. ภายใต้แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. TEATA และภาคีเครือข่าย โดยมี อบก. เป็นผู้ดำเนินการจัดทำและดูแลแอพพลิเคชั่น

              เพื่อยืนยันความสะดวก ใช้งานง่าย และยังคงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  กิจกรรมนำร่องการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและกระบี่  ได้ดำเนินการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ตั้งแต่การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปจนถึงการจบกิจกรรม ด้วยแอพพลิเคชั่น Zero Carbon  ซึ่งได้ผลลัพธ์เป็นจำนวน 11.02 ตัน (tCO2eq) และทำการชดเชยด้วยคาร์บอนเครดิตทั้งหมด รวมทั้งสิ้น 12 ตัน (tCO2eq) จนได้รับประกาศเกียรติคุณจาก อบก. ในรูปแบบการรับรองตนเองที่ง่าย รวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการรับรองแบบอื่นๆ

              กิจกรรมนำร่องครั้งนี้ได้มีการจัดการเพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากเส้นฐาน (ถ้าไม่มีการจัดการใดๆ เลย) กว่า15% เช่น การปรับการเดินทางบางส่วนของคณะเดินทางเป็นแบบรถตู้แทนเครื่องบิน  เลือกใช้บริการสายการบินที่มีนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างชัดเจน รถตู้ที่ให้บริการงดการแจกผ้าเย็นและน้ำขวด ในพื้นที่ต่างๆ มีการปรับใช้พาหนะท้องถิ่นเพื่อใช้ท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่น รถโพถ้อง ซาเล้ง และจักรยานไฟฟ้า

             ขณะที่พื้นที่จัดกิจกรรมในแต่ละจุดเน้นการเปิดโล่ง และลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล มีการเลือกที่พักที่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและลดคาร์บอนฟุตพรินท์จากการพักแรม จัดการเมนูอาหารเพื่อลดอาหารเหลือในแต่ละมื้อ รวมไปถึงการเตรียมตัวให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมลดขยะจากต้นทาง  มีกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอาสาเพื่อฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล แจกของที่ระลึกจากผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ และอีกหลายอย่างที่ทำให้สามารถลดการปล่อยจากเส้นฐานลงไปได้ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นจากการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวสุทธิเป็นศูนย์อย่างเป็นรูปธรรม

              นายนิพัทธ์พงษ์  ชวนชื่น สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) กล่าวว่า แอพพลิเคชัน “ Zero Carbon ”  เป็นตัวช่วยสำคัญที่ทลายกำแพงระหว่างผู้ประกอบการท่องเที่ยวกับเรื่องของความยั่งยืนในอดีตที่เคยทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมาก และจะเป็นเครื่องมือในการเตรียมความพร้อมให้ท่องเที่ยวไทยสามารถรับมือกับกระแสโลกในอนาคตอันใกล้ที่ความยั่งยืนกลายเป็นภาคบังคับกับทุกภาคส่วน

                “ เดิมการประเมิน ตรวจวัดและชดเชยคาร์บอน ประเทศไทยมีเครื่องมือที่ อบก. ทำมานานแล้วโดยเป็นการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์สำหรับผลิตภัณฑ์ ซึ่งเส้นทางการท่องเที่ยวสามารถที่จะใช้เครื่องมือนั้นได้  แต่ก็เป็นวิธีที่ยุ่งยาก มีความเป็นวิทยาศาสตร์ค่อนข้างมาก มีความแม่นยำสูง มีความน่าเชื่อถือสูงมาก และก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงมากตามไปด้วย ทำให้ตัดโอกาสผู้ประกอบการท่องเที่ยวขนาดเล็กในการเข้าถึงกระบวนการตรวจวัดและชดเชยคาร์บอน ในปี 2564 จึงมีการ MOU ระหว่าง 3 กระทรวง  เพื่อร่วมกันการออกข้อกำหนดเฉพาะสำหรับการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้กับบริการท่องเที่ยว  ซึ่งเป็นการกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนมากขึ้นจากเดิม และอนุมานให้ง่ายกับผู้ปฏิบัติ แต่ยังคงความน่าเชื่อถือในผลการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 

              ต่อมาในปี 2565  มีการออกข้อกำหนดเฉพาะดังกล่าวขึ้น เป็นข้อกำหนดกลางระดับประเทศ และมีความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อให้เป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับระดับโลก เครื่องมือดังกล่าวแม้จะง่ายขึ้น สามารถเรียนรู้ได้ภายในครึ่งวัน แต่ก็ยังยากสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่มีพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ จึงเป็นที่มาของแอพพลิคเคชั่น Zero Carbon ที่ทาง อบก. ได้มีการจัดตั้งทีมจัดพัฒนาจากเครื่องมือที่เป็นมาตรฐานมาสู่การใช้งานที่ง่ายขึ้น ทำให้คนเข้าถึงการตรวจประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ ได้ภายใน 15 -20 นาที และสามารถที่จะเข้าถึงกระบวนการที่เรียกว่าชดเชยคาร์บอนได้ด้วย”

              นายนิพัทธ์พงษ์ บอกว่า การพัฒนาแอพพลิเคชั่นนี้ ได้ บพข. เข้ามาช่วยสนับสนุนเป็น Accelerator ในการเร่งให้ทำได้สำเร็จเร็วขึ้น มีการทำงานร่วมกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย และพัฒนาออกมาเป็นแอพพลิเคชั่น Zero Carbon เวอร์ชั่นแรก ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2566  โดยแอพพลิเคชั่นดังกล่าวมีกระบวนการชดเชยคาร์บอนที่จัดการโดยสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย  ซึ่งมุ่งเน้นสนับสนุนโครงการคาร์บอนเครดิตในประเทศ ซึ่งสามารถตรวจสอบคุณภาพได้ง่าย ลดการใช้เงินตราออกนอกประเทศ และยังสอดคล้องแนวคิดด้านความยั่งยืนที่กำลังได้รับความสนใจ  คือ  ปล่อยคาร์บอนที่ไหน ควรที่จะชดเชยที่ประเทศนั้น    

              นายนิพัทธ์พงษ์  ย้ำว่า จากแนวโน้มการท่องเที่ยวของโลกที่มุ่งสู่เรื่องของความยั่งยืน ดังนั้นภาคบังคับด้วยกฎเกณฑ์ต่าง ๆ จะมาถึงภาคการท่องเที่ยวอย่างแน่นอน  หากผู้ประกอบการไทยไม่เตรียมความพร้อมย่อมเสียเปรียบในการแข่งขันซึ่งปัจจุบันภาคการท่องเที่ยวในยุโรป เริ่มมีกฎกติกาเกี่ยวกับความยั่งยืนมากขึ้น รวมถึงเริ่มมีการตรวจสอบเกี่ยวกับการโฆษณาเกินจริงด้านยั่งยืนในการท่องเที่ยวอีกด้วย  ส่วนในประเทศไทย เรียกได้ว่ามีการตื่นตัวและมีความพร้อมในระดับต้น ๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  โดยมีการพัฒนาแพลตฟอร์มหรือระบบที่จะรับมือเป็นของตัวเอง ซึ่งจะมีการพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง

              ทั้งนี้เป้าหมายความสำเร็จของแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในกลุ่ม CNT  ของ บพข. ในช่วง 5 ปี (ปี 2566-2570) มุ่งให้ประเทศไทยเป็น Net Zero Tourism ด้วยการสร้างการวิจัย นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวร่วมกับผู้ประกอบการ โดยยกระดับจากการท่องเที่ยวแบบปกติให้เป็นการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และขยับเป้าหมายสู่การท่องเที่ยวที่มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ที่สามารถตอบโจทย์นักท่องเที่ยวคุณภาพ เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ สังคม ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างการมีส่วนร่วมให้กับผู้เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกัน  ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน.