วช. ร่วมกับ วว. KICK OFF โครงการศูนย์ BCG Farming ต้นแบบ ชุมชนพึ่งพาตนเอง ระยะที่ 2

ออนไซต์-ในสนาม

วช.ร่วมกับ วว. ลงพื้นที่สมุย  KICK  OFF  โครงการศูนย์ BCG  Farming ต้นแบบเพื่อการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนระยะที่ 2

เมื่อวันที่ 5  พฤษภาคม  2566  ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานีสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดงาน KICK  OFF  โครงการศูนย์  BCG  Farming ต้นแบบเพื่อการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ระยะที่ 2   โดยมีดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง  ผู้อำนวยการวช. เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฯ พร้อมด้วย ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการ  วว. , ดร.รจนา   ตั้งกุลบริบูรณ์   ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. และ ดร.บุณณนิดา  โสดา  ผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์ วว.  ร่วมเป็นเกียรติในงาน  

ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง  ผู้อำนวยการวช.   กล่าวว่า  โครงการดังกล่าว  วช.  ให้ทุนสนับสนุนแก่  วว.  ในการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ BCG Farming  ซึ่งคณะนักวิจัยจาก วว. ได้ดำเนินการ เข้าสู่ระยะที่ 2 โดยมีนักศึกษาและคณาอาจารย์ของวิทยาลัยฯ ได้ร่วมกับชุมชนโดยรอบพื้นที่ต้นแบบ  ทำการเกษตร การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยใช้หลักการสอนทั้งเชิงวิชาการและฝึกฝนทักษะวิชาชีพ ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการตลอดห่วงโซ่ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ผ่านการขับเคลื่อนโดยชุมชนในท้องที่ สู่การสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง และยั่งยืนตามแนวทางนโยบาย BCG

สำหรับการดำเนินงานโครงการฯ  ระยะที่ 2  นี้ วว. ได้บูรณาการกับหน่วยงานพันธมิตร  ได้แก่ เทศบาลนครเกาะสมุย  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี บนฐานทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น ผ่านการขับเคลื่อนของชุมชน  โดยชุมชนในท้องที่มีส่วนร่วมในการบริหารโครงการ    ทั้งนี้กิจกรรมประกอบด้วย  การปลูกพืชในระบบโรงเรือน  (ปลูกพืชแบบไร้ดินหรือไฮโดรโปรนิกส์  การพัฒนาระบบการปลูกพืชมูลค่าสูง)  การผลิตเห็ดเศรษฐกิจ   (เห็ดนางรมเทา  เห็ดแครง   เห็ดนางฟ้าภูฐาน) ตามหลักการเศรษฐกิจฐานชีวภาพ การนำของเหลือจากระบบปศุสัตว์ การเกษตร และจากชุมชน  เปลี่ยนเป็นปุ๋ยหมัก  ปุ๋ยมูลไส้เดือน และสารปรับปรุงดิน ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน  การผลิตพืชตามหลักการปฏิบัติที่ดี  และการรวบรวมผลผลิตตามหลักการ GMP  เพื่อให้ได้สินค้าเกษตรที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ตามหลักการเศรษฐกิจสีเขียว

อย่างไรก็ดีจากการดำเนินงานโครงการศูนย์ BCG  Farming ต้นแบบเพื่อการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน  ระยะที่ 1  วว. ประสบผลสำเร็จในการสร้างโรงเรือนเปิดดอกและสถานที่ผลิตก้อนเชื้อเห็ด  ณ  วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ  อ. เกาะสมุย  จ.สุราษฎร์ธานี  ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องโครงการฯ ดังนี้   การเปิดดอกเห็ดสกุลนางรม   ได้แก่  เห็ดนางรมเทา  2  โรงเรือนๆ ละ 2,000 ก้อน รวมทั้งหมด  4,000 ก้อน เ ห็ดนางฟ้าภูฐานดำ จำนวน  2  โรงเรือนๆ ละ 2,000 ก้อน รวม 4,000 ก้อน  เห็ดแครง 1 โรงเรือน จำนวน 2,000 ก้อน รวม 5 โรงเรือน จำนวนก้อนทั้งหมด 10,000 ก้อน  อีกทั้งมีการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีการจัดการการผลิตเห็ด  การฝึกปฏิบัติขั้นตอนการผลิตเห็ดเศรษฐกิจแบบครบวงจร   การเพาะเห็ดเศรษฐกิจ และนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง อาทิ หลักสูตรเทคโนโลยีการผลิตเห็ดเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ และการผลิตก้อนเห็ดในระบบถุงพลาสติก 

นอกจากนี้ยังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตข้าวเสริมซีลีเนียม และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีเสริมซีลีเนียม  พร้อมทั้งจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อขยายผลไปสู่เกษตรกรนอกวิทยาลัย จัดทำแปลงผลิตข้าวเสริมซีลีเนียมจำนวน 7  แปลง ในพื้นที่ประมาณ  3  ไร่ และขยายไปยังจังหวัดปัตตานี การผลิตพืชผักและผลไม้ในระบบโรงเรือน รวมถึงการแปรรูปอาหาร แปรรูปสมุนไพรเป็นเครื่องสำอาง สามารถ สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร สร้างอาชีพทำให้เกิดรายได้ และเป็นต้นแบบเพื่อการสร้างชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน