บพข. จับมือ 11 Accelerators เร่งรัดงานวิจัยเชิงลึกฯ “สร้างจุดแข็ง-เชื่อมโยงเครือข่าย”ตอบโจทย์ประเทศไทยและตลาดโลก

News Update

บพข. จับมือ 10 หน่วยงาน สร้างเครือข่ายผลักดันงานวิจัยเชิงลึกอย่างเป็นรูปธรรม เผย 3 ปีที่ผ่านมา สร้าง 11 หน่วยงานเร่งรัดงานวิจัยฯ เชิงลึก ปั้นดีพเทคสตาร์ทอัพ และนวัตกรรมใหม่ที่จดสิทธิบัตรและจดลิขสิทธิ์แล้วไม่ต่ำกว่า 100 รายการ คาดผลิตภัณฑ์และบริการจาก  11 แพลตฟอร์มที่เกิดขึ้น จะสามารถสร้างมูลค่าตลาดได้ถึงหนึ่งพันล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า 

               วันนี้ (22 ก.ย. 66 ) ที่โรงแรมพูลแมน กรุงเทพ จี ถ.สีลม.กรุงเทพฯ  หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ 10  หน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยนเรศวร  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  จัดกิจกรรม “ พิธีลงนามบันทึกแสดงเจตจำนงทางวิชาการ ( Memorandum of Intent: MOI ) ระหว่าง บพข.  กับ 11 หน่วยงานเร่งรัดงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Science and Technology Accelerators) เพื่อเร่งรัดนำงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์” 

               รศ.ดร.ธงชัย  สุวรรณสิชณน์  ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า  บพข. ภายใต้แผนงานกลุ่ม Deep Science and Tech Accelerator Platform ทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมหน่วยงานวิจัยของภาครัฐและเอกชนในการเร่งรัดพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ โดยเน้นการพัฒนา ถ่ายทอดการบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปจนถึงการผลักดันให้เกิดการขยายธุรกิจ เกิดผู้ประกอบการใหม่ให้สามารถนำผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมเข้าสู่ตลาดไทยและตลาดต่างประเทศได้ 

               โดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา บพข. ได้มีความร่วมมือกับ 9 มหาวิทยาลัย และ สวทช. จนเกิดเป็น 11 หน่วยงานเร่งรัดงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก  หรือ 11 Accelerator Platforms ที่สามารถนำผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมเข้าสู่ตลาดไทยและตลาดต่างประเทศได้ โดยผลงานที่เกิดขึ้นเป็นเทคโนโลยีเชิงลึก ทั้งนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์และสุขภาพ เทคโนโลยีอาหารมูลค่าสูง และอุปกรณ์เทคโนโลยีดิจิทัล ไอโอที (IoT) ขั้นสูง  ทำให้เกิดธุรกิจสตาร์ทอัพ มีผลิตภัณฑ์และบริการใหม่รวมทั้งมีการจดสิทธิบัตรและจดลิขสิทธิ์แล้วไม่ต่ำกว่า 100 รายการ อีกทั้งยังสามารถระดมทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์และบริการเทคโนโลยีเชิงลึกจาก 11 Accelerator Platforms จะสามารถสร้างมูลค่าตลาดได้ถึงหนึ่งพันล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า

               ดร.ธงชัย กล่าวอีกว่า บพข. โดยกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหรือกองทุน ววน. นั้น มุ่งส่งเสริมขับเคลื่อนงานวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Science and Technology) เพื่อให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าสูงออกสู่เชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะผลงานวิจัยที่เริ่มต้นจากระดับความพร้อมของเทคโนโลยี  หรือ Technology level readiness (TRL) อย่างน้อยระดับ 4 ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการวิจัยและพัฒนา และยังขาดระบบการบริหารจัดการนวัตกรรม (Innovation management system) และกระบวนการเร่งขับเคลื่อนแบบก้าวกระโดด (Accelerator) ให้กับนักวิจัย ให้สามารถพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีเชิงลึกจนได้ผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่มีมูลค่าสูง เสริมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ 

               “บพข. ซึ่งถือเป็นตัวกลางเชื่อมโยงร่วมกับ 11 หน่วยงานเร่งรัดงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก จึงได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกแสดงเจตจำนงทางวิชาการ (Memorandum of Intent: MOI) ระหว่าง บพข.  กับ 11 หน่วยงานดังกล่าวขึ้น  โดยเป็นการลงนามข้อตกลงในการทำงานร่วมกัน เพื่อที่จะต่อยอดความร่วมมือและนำสิ่งที่เป็นองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์  มีการแบ่งปันและเชื่อมโยงทรัพยากร เช่น โครงสร้างพื้นฐาน และระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างผลิตภัณฑ์ หรือบริการ  แหล่งฝึกอบรมบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญรวมไปถึงผู้ประกอบการ ให้สามารถสร้างธุรกิจได้จากงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งการทำงานร่วมกันนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศมากขึ้น  ”

               ด้าน “ดร.วิไลพร เจตนจันทร์”  ประธานอนุกรรมการแผนงาน Deep Science and Technology Acceleration Platform บพข.  กล่าวว่า    ทราบกันดีว่าในแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีงานวิจัยจำนวนมาก แต่ประเด็นสำคัญคือตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ หรือในตลาดโลกอย่างไร  บพข. จึงเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่โลกต้องการกับความเชี่ยวชาญที่แต่ละมหาวิทยาลัยมี และนำพาสิ่งนั้นไปสู่ตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศ  โดยมุ่งเน้นว่าจะต้องเกิดผลิตภัณฑ์ โซลูชั่นหรือบริการ  ซึ่งจากแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นทั้ง 11 แห่ง ใน 3 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐมีการลงทุนไปประมาณ 190 ล้าน คาดว่าปัจจุบันสามารถทำให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนเข้ามาแล้วกว่า 1 พันล้านบาท และยังมีผลงานออกมาอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทยได้ในอนาคต

               “เราทำงานร่วมกับ 11 Accelerators มา 3 ปีเต็ม  แต่ละทีมมีศักยภาพในการ Accelerate  ซึ่งในแต่ละมหาวิทยาลัยมีผลงานดี ๆจำนวนมาก จึงจำเป็นที่จะต้องโฟกัสว่ามหาวิทยาลัยเก่งด้านใด โดยมุ่งเน้นสิ่งที่เป็นดีพเทคที่ทำให้เกิด Big Impact สามารถนำไปใช้งานได้จริง  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการตอบโจทย์เทรนด์ของโลก เช่น เรื่องผู้สูงอายุ การดูแลสุขภาพ พลังงาน สิ่งแวดล้อม และเรื่องความยั่งยืน   และหลังจากโฟกัสความเชี่ยวชาญได้แล้ว สิ่งที่สำคัญ คือ การ Screening  โครงการ ที่จำเป็นต้องมีตลาดใหญ่เพียงพอที่จะทำให้เกิด Big Impact  แม้ว่าจะไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตนเองแต่หากตลาดใหญ่พอ ก็สามารถผลิตและขายได้ นอกจากนี้หากมองเรื่องของการไปตลาดโลก สิ่งที่จำเป็นต้องมีคือพาร์ทเนอร์จากต่างประเทศ และต้องเป็นพาร์ทเนอร์ในภาคอุตสาหกรรมด้วย”

               อย่างไรก็ดีในงานยังมีการเสวนาในหัวข้อ “จากดินสู่ดวงดาว ปั้นได้อย่างไร” โดยผู้เชี่ยวชาญ และผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจากการผลักดันให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมเชิงลึกของไทย   ซึ่งต่างย้ำถึงความสำคัญของแพลตฟอร์ม Accelerator ที่ช่วยติดอาวุธให้กับนักวิจัย และทำให้ผลงานถูกมองเห็นจากนักลงทุน

               นอกจากนี้ยังมีการนำผลงานตัวอย่างความสำเร็จจาก 11 หน่วยงานเร่งรัดงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึกมาจัดแสดง อาทิ ความสำเร็จจาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และเร่งใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (MIDAS Center) จากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่นอกจากจะผลิตชุดทดสอบทางการแพทย์ ที่ช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยโรคได้แม่นยำและรวดเร็วแล้วยังสามารถผลิตแขนเทียมเพื่อการฝึกปฏิบัติการเจาะเลือดสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โดยใช้ซิลิโคนที่ทดสอบแล้วว่าเหมือนแขนมนุษย์มากที่สุด และต้นทุนต่ำกว่าท้องตลาดถึง 10 เท่า  ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยมหิดลยังมี แพลตฟอร์มเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์สำหรับนวัตกรรมเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี (Smart Living) โดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ซึ่งมีภาคเอกชนร่วมสนับสนุนทุนในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเตรียมออกสู่ตลาด เช่น การผลิตแผ่นกั้นเสียงสำหรับงานจราจร การพัฒนาสารสกัดกระชายในการยับยั้งแบคทีเรีย และการผลิตแผ่นรองนอนต้านแบคทีเรียสำหรับผู้ป่วยติดเตียงและป้องกันแผลกดทับ 

               สำหรับศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถบ่มเพาะสตาร์ทอัพด้านอุปกรณ์ดิจิทัล ระบบปัญญาประดิษฐ์ด้านสุขภาพการแพทย์ได้ในหลายโครงการ อาทิ ระบบติดตามในอุตสาหกรรมปศุสัตว์โคนม ปัญญาประดิษฐ์สำหรับงานเวชระเบียน และระบปัญญาประดิษฐ์การอ่านภาษาไทยด้วยภาพ  หรือนวัตกรรมการแพทย์ เช่น นวัตกรรมแผ่นแปะเข็มระดับไมโครชนิดละลายน้ำได้ รวมทั้งการบ่มเพาะสตาร์อัพทางการแพทย์ เช่น บริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม หรือ บริษัทแนบโซลูท เป็นต้น ส่วนแพลตฟอร์มเร่งรัดการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรมอาหารที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก (FOREFOOD) เมืองนวัตกรรมอาหาร สวทช. สามารถบ่มเพาะให้เกิดสตาร์ทอัพ ได้ไม่น้อยกว่า 40 บริษัท เกิดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเชิงลึกด้านอาหาร อุปกรณ์เพื่อสุขภาพ และระบบปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะ ไม่ต่ำกว่า 50 ผลิตภัณฑ์  ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ตลาดสำเร็จ อาทิ โปรตีนทางเลือกจากแมลง เส้นไข่ขาว ไร้แป้ง ไร้ไขมัน เจ้าแรกของไทย สารทดแทนไข่ ผลิตภัณฑ์ทางเลือกทดแทนนมวัว 

               ด้านแพลตฟอร์มเร่งการเติบโตทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลและนวัตกรรมสร้างสรรค์อย่างยั่งยืนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง หรือ Organic Tech Accelerator platform (OTAP) จาก มหาวิทยาลัยนเรศวร  สามารถบ่มเพาะ 8 ธุรกิจสตาร์ทอัพ เน้นถ่ายทอดองค์ความรู้ในกระบวนการทดสอบการตลาด การออกแบบต้นแบบ อาทิ ดิจิทัลแคตตาล็อก สำหรับทดลองสวมใส่เครื่องประดับสามมิติ เครื่องฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือ gamified application สำหรับบริหารการเงินเพื่อ Gen Z โดยเฉพาะ

               ขณะที่มหาวิทยาลัยสุรนารี  มีแพลตฟอร์มบ่มเพาะและเร่งสร้างเติบโตนวัตกรรมเชิงลึก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี    สุรนารี (SUT Horizon)  ผลักดันให้เกิดต้นแบบ และผลผลิตทางเทคโนโลยี โดยร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนในหลายโครงการ อาทิ เทคโนโลยีอากาศยานไร้นักบินปรับทิศแรงขับดันสำหรับสำรวจถนน เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ATV ขนของภายในโรงพยาบาล   และปัญญาประดิษฐ์สำหรับระบบแพทย์ระยะไกลในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวและผู้สูงอายุ  

               ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการพัฒนาเทคโนโลยีนำร่อง ระดับ TRL 4 ที่พร้อมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ เช่น การพัฒนากระบวนการผลิตที่เหมาะสมของผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ สารสกัดพืชเชิงพาณิชย์ด้านเวชสำอางเพื่อยับยั้งการอักเสบของเซลล์ผิวหนัง และการพัฒนาเทคโนโลยีระบุตำแหน่งและพฤติกรรมในอาคารเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ North Bangkok Robotic Accelerator (NB RAP) จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการผลักดันนวัตกรรมเชิงลึกออกสู่ตลาด และมีความร่วมมือกับภาคเอกชน นำร่องนวัตกรรม ด้านหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและระบบอัตโนมัติเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน อาทิ การบริหารจัดการผ้าในโรงพยาบาลด้วยเทคโนโลยีระบบอาร์เอฟไอดี (ลินินแทรคเกอร์) แผนดำเนินการธุรกิจหุ่นยนต์จัดยาอัตโนมัติ

                ศูนย์เร่งการจัดการนวัตกรรม เทคโนโลยีและการวิจัย จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่พัฒนารูปแบบ Holding Company โดยมี 4 โครงการนำร่อง ได้แก่ เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบมือถือด้วยเซนเซอร์หลากหลาย ชุดตรวจภูมิแพ้อย่างรวดเร็ว ชุดตรวจสอบไนโตรฟูแรนหรือยาปฏิชีวนะยับยั้งแบคทีเรียในสัตว์น้ำ และ โดมแสงธรรมชาติป้องกันรังสีตรงเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสภาพแวดล้อมที่ดีภายในอาคาร 

                และในปี 2565  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้เข้ามาร่วมผลักดันให้เกิดแพลตฟอร์มการเร่งรัดนวัตกรรมและเทคโนโลยีเชิงลึก ด้าน ดิจิทัล โรบอติกส์ และระบบอัจฉริยะ รวมไปถึงนวัตกรรมด้านสุขภาพ เกษตรอาหาร และระบบการผลิตระดับอุตสาหกรรมอีกด้วย

               ดร.ธงชัย กล่าวสรุปว่า หัวใจสำคัญของการทำงานของ บพข. คือ การพัฒนาศักยภาพของภาคเอกชนผู้ประกอบการ SME และ Startup จนถึงบริษัทขนาดใหญ่ ให้สามารถนำงานวิจัยมาต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ บพข. ไม่สามารถทำสำเร็จได้เพียงลำพังหน่วยงานเดียว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในการขับเคลื่อนให้เกิดผลลัพธ์ตามที่วางไว้ ด้วยพลังความร่วมมือของทุกหน่วยงาน ทั้งในกระทรวง อว. เอง และหน่วยงานภายนอกกระทรวง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ