จาก “ขวดน้ำ”สู่ “เครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นของพนักงานการบินไทย” ยุทธศาสตร์การผสานอัตลักษณ์ความเป็นไทยกับแนวคิดความยั่งยืน

นวัตกรรมยั่งยืน

               เครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงของการบินไทย  เป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับนานาชาติ และได้รับการยอมรับในเรื่องความสวยงาม  และเป็นสิ่งแสดงออกถึงเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงความเป็นสายการบินแห่งชาติ ที่เปรียบเสมือนประตูบานแรกที่เปิดต้อนรับผู้โดยสารจากประเทศต่างๆ มาเป็นระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ

               วันนี้…การบินไทยได้มีการปรับโฉมเครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นใหม่  ด้วยการผสมผสานอัตลักษณ์ความเป็นไทยเข้ากับแนวคิดเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development)

               จากขวดน้ำ PET ที่เคยเป็นขยะถึงกว่า 300 ขวดในแต่ละเที่ยวบิน ถูกนำมาผลิตเป็นเส้นใยผสมกับเส้นไหมในอัตราส่วน 70 : 30 กลายเป็นนวัตกรรมผ้าชนิดใหม่ ที่มีความสวยงามไม่ต่างจากผ้าไหม 100 %   และยังมีคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัว  ที่โดดเด่นในเรื่องความง่ายในการดูแลรักษา  การคงรูปแต่ให้ความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการใช้งาน และได้ผ่านการทดสอบในด้านความปลอดภัยที่เป็นตามมาตรฐานสากล

               …เครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นโฉมใหม่นี้  จะเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

               การเปิดตัว “เครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงของการบินไทย” เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นอีกครั้ง… ของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของการบินไทย ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนแม่บทหรือกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในสิ้นปีนี้

               “นายชาย เอี่ยมศิริ”  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)   กล่าวว่า  ตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การบินไทยดำเนินธุรกิจโดยตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากอุตสาหกรรมการบินมาอย่างต่อเนื่อง  มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานด้านต่าง ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านกิจกรรมและโครงการริเริ่มต่างๆ ทั้งในรูปแบบการลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะด้วยการนำวัสดุที่ไม่ใช้งานแล้วกลับมาพัฒนาสร้างคุณค่าให้เกิดประโยชน์เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน  และมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050)

               ภายใต้แนวคิด  “Zero Waste Living” ซึ่งประกอบด้วยหลักการหลัก 3 ประการ ได้แก่ FROM PLANES TO PLANET-การบินเพื่อสิ่งแวดล้อม FROM WASTE TO WEALTH-การพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และ FROM PURPLE TO PURPOSE-จากใจสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน

               “นวัตกรรมชุดไทยนี้เกิดจากการทำงานร่วมกันของการบินไทยกับผู้ผลิต โดยใช้เวลาตั้งแต่เริ่มคิด มากว่า 6 เดือน โดยขวด PET ที่นำมาผลิตเป็นชุดไทย 1ชุด ใช้ขวดน้ำประมาณ 54 ขวด  วัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้  ไม่ได้ดูเรื่องของการลดต้นทุน แต่เป้าหมายหลักคือความเป็นไทยและสิ่งแวดล้อม ที่สามารถไปด้วยกันได้  และเมื่อมาดูเรื่องต้นทุนภายหลัง  พบว่าต้นทุนในการผลิตชุดไทย 1 ชุดไม่ได้สูงกว่าชุดเดิม และอาจจะต่ำกว่าเล็กน้อยด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่ได้คือ ลูกเรือสามารถดูแลรักษาได้ง่ายกว่าเดิม  ทั้งนี้  1 มกราคม 2567 จะเป็นจุดเริ่มต้นในการทยอยใช้กับลูกเรือชุดใหม่ที่รับเข้ามา คาดว่าจะสามารถเปลี่ยนมาใช้ชุดไทยแบบใหม่ได้แบบ 100 %  ได้ในกลางปีหน้า”

               นายชาย  กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการบินไทย มีประมาณ 120 เที่ยวบินต่อวัน ทำให้มีขวดน้ำพลาสติกเหลือทิ้งกว่า 3 หมื่นขวด  เดิมใช้วิธีแยกขยะขาย   การนำมาแปรรูปเป็นเส้นใยผสมกับผ้าไหมครั้งนี้   จะเป็นโครงการเริ่มต้น ซึ่งอนาคตอาจจะมีการต่อยอด พัฒนาไปสู่การทำเป็นเครื่องแบบพนักงานแบบอื่น ๆ  

               ด้าน “นายทวิโรจน์ ทรงกำพล” ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาองค์กร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)   กล่าวถึงยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ว่า การบินไทยมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์   ในปี พ.ศ. 2593  หรือ ค.ศ. 2050  ภายใต้แนวคิด  “Zero Waste Living”  ซึ่งประกอบด้วยหลักการหลัก 3 ประการ  คือ 1. FROM PLANES TO PLANET การบินเพื่อสิ่งแวดล้อม 2. FROM WASTE TO WEALTH การพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และ 3. FROM PURPLE TO PURPOSE-จากใจสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน

               ที่ผ่านมา การบินไทยได้เริ่มดำเนินการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานด้วยการนำเครื่องบินและเครื่องยนต์สมัยใหม่ที่มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงและการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำมาใช้ในการให้บริการ และปรับปรุงการปฏิบัติการบิน อาทิ การนำเทคนิค Single Engine Taxi และการลดน้ำหนักการบรรทุกมาปรับใช้ในการปฏิบัติการบิน เป็นต้น

               นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการปรับปรุงกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งรวมถึงการจัดทำแผนการนำเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF-Sustainable Aviation Fuel) มาใช้ทำการบิน และการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจด้านอื่นๆ นอกเหนือจากกิจกรรมการบิน อาทิ กิจกรรมครัวการบิน กิจกรรมสายช่าง กิจกรรมการบริการภาคพื้น ตลอดจนกิจกรรมเพื่อสร้างความยั่งยืนทางสังคม อาทิ การสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากภาคการเกษตรของเกษตรชาวไทยและผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่บริษัทฯกำหนด

               นายทวิโรจน์ กล่าวว่าสำหรับเรื่องของการจัดการขยะบนเครื่อง เช่น อาหาร  ซึ่งเคยมีการดำเนินการมาก่อนหน้าที่จะหยุดไปในช่วงโควิด-19 ที่ไม่มีการบิน  ในกรอบแนวทางในการพัฒนาอย่างยั่งยืนใหม่ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุง การบินไทยก็จะกลับไปทำเรื่องดังกล่าวด้วย และจะมีการต่อยอดจากอดีตที่ผ่านมา เช่น การแยกขยะ แต่ในครั้งนี้อาจจะทำอย่างครบวงจร คือ นำวัสดุที่อาจจะใช้ซ้ำได้มาพัฒนาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์   อาจจะมีความร่วมมือกับคู่ค้าพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อยกระดับ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจหมุนเวียน  และอนาคตอาจจะขยายจากการทำภายในองค์กรไปสู่การสร้างความร่วมมือกับภาคชุมชน โดยมีการวิจัยและพัฒนานำวัสดุที่ไม่ใช้ประโยชน์แล้วไปพัฒนาเพิ่มมูลค่าได้

               “ แผนแม่บทฯที่กำลังจะแล้วเสร็จเพื่อให้ทุกหน่วยงานในบริษัทเดินตามนั้น  จริง  ๆ แล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อเราเข้าสู่แผนพื้นฟูกิจการ  เราไม่เคยหยุดริเริ่มโครงการภายใต้แผนพื้นฟูฯ   จะมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งเรื่องของการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่าขึ้น เรื่องของการลดใช้พลังงาน ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังมีกิจกรรมของอีกหลายหน่วยงานที่เป็นโครงการริเริ่มในเชิงปฎิรูปที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายทวิโรจน์กล่าว

               ชมเครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นโฉมใหม่ของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงของการบินไทย ได้ที่ https://youtu.be/56bTnH-EFQs?si=jnLcHciz7cKBTSsX