จิสด้าเผยภาพแรกจากดาวเทียม THEOS-2 พร้อมให้บริการอย่างเต็มรูปแบบกรกฎาคมนี้

News Update

อว.โดยจิสด้า เผยภาพพื้นที่กรุงเทพมหานคร  ภาพแรกจากดาวเทียม THEOS-2 ซึ่งมีความคมชัด สูง มองเห็นวัตถุ ขนาด 50X50 เซนติเมตรได้อย่างชัดเจน โดยพร้อมให้บริการอย่างเต็มรูปแบบกรกฎาคมนี้

วันนี้ (15 พฤษภาคม 2567 ) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA จัดงาน “THEOS-2’s First Images หรือ ภาพแรกจากดาวเทียม THEOS-2”  เตรียมพร้อมสำหรับการใช้งานในทุกมิติ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนประชาชนที่สนใจเข้าร่วมงาน ณ โรงภาพยนต์ ScreenX ชั้น 6 พารากอนซีนีเพลกซ์ สยามพารากอน กรุงเทพมหานคร

ดร.พรเทพ นวกิจกนก ผู้อำนวยการศูนย์ผลิตดาวเทียมแห่งชาติของ GISTDA กล่าวว่า หลังจากดาวเทียม THEOS-2 ได้ถูกนำส่งขึ้นสู่อวกาศ ด้วยจรวดนำส่ง Vega เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา จากท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Center) รัฐเฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้ และขึ้นสู่วงโคจรแล้ว ทีมวิศวกรดาวเทียมจาก GISTDA และ AIRBUS ได้ทำการติดต่อกับดาวเทียมอยู่ตลอดเวลา โดยมีการทดสอบและปรับจูนระบบดาวเทียม รวมทั้งตั้งค่าระบบการใช้งานต่างๆ ให้มีความเสถียรและได้มาตรฐานตามที่สากลกำหนด เพื่อให้ข้อมูลที่ได้จากดาวเทียม THEOS-2 มีความถูกต้อง ซึ่งก็เป็นไปตามเกณฑ์และมาตรฐานของ GISTDA ที่ต้องการให้ผู้ใช้งานทุกระดับเกิดความพึงพอใจในการใช้บริการข้อมูลจากดาวเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งที่ผ่านมา ทีมวิศวกรดาวเทียมได้พบกับปัญหาและอุปสรรคในการทำงานพอสมควร แต่เราก็ได้เรียนรู้กันไป แลกเปลี่ยนกันไป จนทำให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดี และวันนี้ดาวเทียม THEOS-2 สามารถสั่งถ่ายภาพได้แล้ว

สำหรับภาพแรกจากดาวเทียม THEOS-2 คือ กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย ด้วยศักยภาพของดาวเทียม ทำให้ภาพถ่ายที่ได้มีความคมชัดมากสามารถมองเห็นวัตถุต่างๆที่มีขนาด 50X50 เซนติเมตรได้อย่างชัดเจน เห็นสถานที่ต่างๆได้ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ถนนหนทาง รถยนต์บนท้องถนน เรือที่กำลังแล่นอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดจนคูคลองและลำคลองต่างๆ ทั่วเขต กทม. และด้วยความคมชัดของภาพจึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ด้านการวางแผนบริหารจัดการในต่างๆ อาทิ ด้านการคมนาคมขนส่ง ด้านการจัดการผังเมือง ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม รวมถึงการวางแผนการจัดการด้านสาธารณูปโภค นอกจากนี้ ข้อมูลดาวเทียมยังมีประโยชน์ในด้านการศึกษาวิจัยในด้านต่างๆ ซึ่งนักเรียน นิสิต นักศึกษาสามารถใช้ประโยชน์ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมได้

อย่างไรก็ตาม นอกจากความสำเร็จของการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมแล้ว GISTDA ยังขยายการพัฒนาระบบนิเวศอวกาศและอุตสาหกรรมอวกาศ เพื่อตอบรับกับการใช้งานในทุกภาคส่วนและพร้อมที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ สู่การนำไปใช้ในการสร้างนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศต่อไป ทั้งนี้ GISTDA จะเริ่มให้บริการข้อมูลดาวเทียมTHEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบภายในเดือนกรกฎาคม 2567 เป็นต้นไปผ่านระบบ Digital Service Platform ดร.พรเทพฯ กล่าว