GISTDA เปิดตัว “สมอล-วอท” ระบบติดตามแหล่งน้ำขนาดเล็กจากดาวเทียม

News Update

GISTDAเปิดตัวระบบติดตามสถานการณ์แหล่งน้ำขนาดเล็กด้วยข้อมูลจากดาวเทียม“สมอล-วอท” พร้อมให้บริการ ประชาชนบน เว็บไซต์ https:\\water.gistda.or.th และโมบายแอพพลิเคชั่น “Geo Caching”

              วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เปิดตัวระบบติดตามสถานการณ์แหล่งน้ำขนาดเล็กด้วยข้อมูลจากดาวเทียม หรือ Satellite-Based Small Water Source Monitoring System (SMORWAT : สมอล-วอท) ณ โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน

              ดร.สยาม ลววิโรจน์วงค์ โฆษก GISTDA และผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ กล่าวว่า GISTDA ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำขนาดเล็กที่มีความเกี่ยวข้องและผูกพันกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากขาดการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในเขตพื้นที่ต่างๆ ด้วยเหตุนี้ GISTDA จึงเริ่มดำเนินโครงการวิเคราะห์และคาดการณ์ปริมาณน้ำจากดาวเทียม THEOS-2 และกลุ่มดาวเทียมรายละเอียดปานกลาง ร่วมกับข้อมูลจากเซ็นเซอร์ภาคพื้นดิน ซึ่งเน้นให้เกิดการเชื่อมโยงกันของข้อมูลหลายๆส่วนสำคัญ ทั้งข้อมูลจากดาวเทียม ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ภาคพื้นดิน และข้อมูลจากการสำรวจในพื้นที่จริงๆ แล้วจึงนำมาพัฒนาเป็นระบบติดตามแหล่งน้ำขนาดเล็กจากข้อมูลดาวเทียม หรือ สมอล-วอท (SMORWAT) เพื่อใช้สนับสนุนด้านการติดตาม การตรวจสอบ และการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กทั้งประเทศ

              โฆษก GISTDA กล่าวเพิ่มเติมว่า การบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน การเปิดตัวระบบในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถใช้งานระบบได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่สู่การบริหารจัดการน้ำของประเทศในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย สมอล-วอท (SMORWAT) จะให้บริการกับประชาชนได้ทั้งบน เว็บไซต์ https:\\water.gistda.or.th และ โมบายแอพพลิเคชั่น “Geo Caching”ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งในระบบ Android และ IOS