วิศวฯ จุฬาฯ ไม่ทนปัญหาฝุ่นพิษ ชวนคนไทยรู้ทันสถานการณ์ฝุ่น ผ่านแอป Sensor for all

News Update

               เมื่อปัญหาของฝุ่น PM 2.5 หรือฝุ่นจิ๋ว ที่มีพิษและอันตรายสูง กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างจริงจัง และกลายมาเป็นวาระแห่งชาติในปัจจุบัน

               คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนาวิธีการรับมือกับฝุ่นพิษเพื่อให้ประชาชนสามารถรับมือและป้องกันฝุ่นพิษไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของตัวเองได้ในเบื้องต้น โดยสร้างระบบการแสดงผล เกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่น ที่ทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงได้ง่าย และใช้งานข้อมูลได้อย่างเต็มศักยภาพ เป็นที่มาของ Application : Sensor for all ที่เป็น Platform ข้อมูลฝุ่น PM2.5 ที่คนไทยพัฒนา เพื่อคนไทย และฐานข้อมูลทั้งหมดเป็นของคนไทย ที่พร้อมสำหรับให้ทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาแบบจำลองพยากรณ์ปริมาณฝุ่นล่วงหน้าจากปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เช่น ทิศทางและความเร็วลม บริเวณที่มีจุดความร้อน และกิจกรรมในพื้นที่ โดยทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศแบบ Real-time

               ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึงผลดีของการนำ Application : Sensor for all ไปใช้งานในชีวิตประจำวัน เพราะจะทำให้ผู้ใช้คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้าได้ และสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมา วางแผนกิจกรรมในชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสม รวมถึงการประยุกต์ใช้ฐานข้อมูลเพื่อการสื่อสารความเข้าใจเกี่ยวกับคุณภาพอากาศและการรับมือมลพิษอากาศ และการวิจัยเชิงลึกเพื่อพัฒนาโมเดลคุณภาพอากาศให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

               สำหรับการติดตามสถานการณ์ฝุ่น สามารถใช้งานผ่านทางเว็บไซต์ sensorforall.com หรือ Application : Sensor for All โดยหน้าแรกของแอปฯ จะแสดงค่าคุณภาพอากาศ (Air Quality Index, AQI) จากจุดตรวจวัดที่อยู่ใกล้ที่สุด รวมถึงค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 2 วัน และค่าฝุ่นคาดการณ์ล่วงหน้า 3 วัน เพื่อให้ผู้ใช้งานรับรู้ข้อมูลคุณภาพอากาศ ณ ขณะนั้นและในอนาคตอันใกล้สำหรับวางแผนการทำกิจกรรม

               นอกจากนี้ ผู้ใช้งานสามารถตั้งค่าจุดประจำที่ต้องการให้แอปฯ แสดงผลสำหรับติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศในบริเวณที่สนใจ เช่น บ้าน ที่ทำงาน หรือพื้นที่ที่จะต้องเดินทางไปบ่อย และหน้าแผนที่ที่จะแสดงข้อมูลคุณภาพอากาศทั่วประเทศในแผนที่ประเทศไทย โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกดูในจุดที่สนใจซึ่งมีจุดตรวจวัดของโครงการและหน่วยงานพันธมิตรครอบคลุมในทุกพื้นที่ และสุดท้ายคือหน้าคาดการณ์ ซึ่งจะเป็นการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้า 3 วันในพื้นที่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ

               คณะวิศวฯ จุฬาฯ จะเดินหน้าอย่างจริงจัง กับการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ  เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงสร้างโอกาสในการเติบโตที่มากกว่า (Greater growth) ให้กับทุกภาคส่วนในสังคม รวมถึงขอเชิญท่านที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลฝุ่น pm2.5 ได้ทาง Application sensor for all

                สามารถดาวน์โหลด Application : Sensor for all ได้ฟรีทั้งบน App Store หรือ Play store เพื่อการรับมือฝุ่นพิษและลดผลกระทบจากมลพิษอากาศต่อสุขภาพของทุกคน หรือติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทาง www.eng.chula.ac.th