“พุทธิพงษ์” ควง 4 ค่ายมือถือให้เน็ตฟรีขณะใช้งานแอปหมอชนะ

News Update

“พุทธิพงษ์” ควง 4 ค่ายมือถือ ให้ใช้เน็ตฟรี 3 เดือน เมื่อใช้งานแอปพลิเคชันหมอชนะ  ด้านกสทช.กำชับค่ายมือถือคุมสัญญาณรองรับโครงการคนละครึ่งรอบใหม่ของรัฐบาล พร้อมคลอดแพ็คเกจเสริม 79 บาท 2 เดือน หนุน WFH

              นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ตระหนักถึงความสำคัญในการสนับสนุนให้ประชาชนร่วมมือเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ล่าสุดมอบนโยบายให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT พร้อมผู้ให้บริการมือถือทุกรายร่วมรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนใช้งานแอปพลิเคชันหมอชนะ ผ่านบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยไม่คิดค่าใช้บริการดาต้าเบื้องต้นเป็นเวลา 3 เดือน เริื่มตั้งแต่วันนี้ (11ม.ค.64) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนให้ความร่วมมือในการใช้งานซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการช่วยกันเฝ้าระวัง ติดตาม ดูแล สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

              “หมอชนะเป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นด้วยความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ โดยมีกระทรวงดิจิทัลฯ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ ดีจีเอ ให้การสนับสนุน เริ่มเปิดให้ใช้งานตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2563 ล่าสุดมียอดใช้งานแอปฯ ที่ 6,340,000  เลขหมาย โดยรองรับได้ 30 ล้านเลขหมาย และจะสามารถปรับขยายได้อีกต่อเนื่อง โดยคุณสมบัติที่สำคัญของแอปพลิเคชันหมอชนะมีหลายประการ เช่น มีการถ่ายรูปของผู้ใช้งานเพื่อยืนยันว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ใช้งานจริง สามารถติดตามเส้นทางของผู้ใช้แอปพลิเคชันซึ่งจะเป็นเครื่องมือให้กรมควบคุมโรคใช้ประกอบในการสืบสวนโรค และใช้ในการค้นหาว่าผู้ใช้แอปพลิเคชันรายใดอยู่ในสถานที่เสี่ยงในช่วงวันและเวลาร่วมกับผู้ติดเชื้อหรือไม่เพื่อกรมควบคุมโรคจะได้ส่งข้อความแจ้งเตือน”

              ทั้งนี้ แอปพลิเคชันหมอชนะจะเก็บรูปถ่ายของผู้ใช้งานไว้ที่เครื่องของผู้ใช้งานเท่านั้น จะไม่มีการเก็บรูปถ่ายไว้ที่ Server ส่วนกลางของระบบแต่อย่างใด ในกรณีที่โทรศัพท์มือถือไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แอปพลิเคชันจะเก็บข้อมูลเส้นทางการเดินทางไว้ในโทรศัพท์มือถือก่อน เมื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้แล้วจึงจะส่งข้อมูลไปจัดเก็บที่ระบบส่วนกลาง  ที่สำคัญคือไม่มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ ชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ อีเมล ที่อยู่ และอื่นๆ ในแอปพลิเคชันและระบบ

              นอกจากนี้ ยังร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (เน็ตบ้าน) โดยได้ข้อสรุป คือ กรณีการใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (Fixed Broadband) หรือเน็ตบ้าน ผู้ประกอบการฯ สนับสนุนให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้ Fixed Broadband โดยปรับเพิ่มความเร็วขึ้นไม่ต่ำกว่า 100/100 Mbps สำหรับผู้ใช้บริการที่ใช้บริการในโครงข่ายไฟเบอร์ และเพิ่มความเร็วให้เต็มขีดความสามารถของอุปกรณ์นั้นๆ ในกรณีที่ไม่ได้ใช้บริการโครงข่ายไฟเบอร์ เช่น xDSL ส่วนกรณีการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband)

                ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ประกอบการได้มีการออกแพ็คเกจเสริมในการสนับสนุนการ Work From Home อยู่แล้ว แต่เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติม จึงมีความร่วมมือในการออกแพ็คเกจเสริมพิเศษ ในราคา 79 บาทต่อเดือน (ไม่รวม VAT) ใช้งานได้ 2 เดือนไม่จำกัดปริมาณการใช้งาน ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 10 Mbps เพื่อรองรับการใช้งานแอปพลิเคชัน Work From Home ต่าง ๆ เช่น Microsoft Teams 365, ZOOM (ค่าบริการไม่รวมค่า license ในการใช้งานแอปพลิเคชัน) เป็นต้น

              นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สำนักงานกสทช. ได้กำชับให้โอเปอเรเตอร์ทุกรายดูแลคุณภาพสัญญาณให้มีประสิทธิภาพในช่วงที่ประชาชนทำงานที่บ้าน โดยเฉพาะเรื่องโครงข่ายในการรองรับโครงการคนละครึ่งรอบใหม่ของรัฐบาล และเตรียมระบบรองรับ OTP ในการลงทะเบียนรับสิทธิ์ของโครงการด้วย สำหรับโรงพยาบาลภาคสนาม สำนักงานฯ ก็ได้ขอความร่วมมือให้โอเปอเรเตอร์ทุกรายสนับสนุนการติดตั้ง Internet WiFi และสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่เตรียมรองรับการปฏิบัติงานของทีมบุคลากรทางการแพทย์ และการใช้บริการ ณ โรงพยาบาลภาคสนามที่จังหวัดสมุทรสาครเรียบร้อยแล้ว