สวทช.โชว์ผลงานเด่นปี 66 พร้อมเดินหน้าขยายผลงานวิจัย “11 BCG Implementation ปี 67”

Cover Story

สวทช. โชว์ผลงาน  NSTDA Core Business เห็นผลเป็นที่ประจักษ์รับการตอบรับจากผู้ใช้งานจริงหลักล้านคน  พร้อมเดินหน้าปี 67 ขับเคลื่อนงานวิจัย 11 BCG Implementation ด้วยกลยุทธ์ “1 ลด – 2 เพิ่ม – 1 สร้าง”  ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างยั่งยืน

               วันนี้ (25 ธันวาคม 2566)  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)   แถลงข่าวสรุปผลงาน สวทช. ประจำปี 2566 “สวทช. ขับเคลื่อนงานวิจัย BCG เพิ่มคุณภาพชีวิตคนไทย สู่ความยั่งยืน” พร้อมเปิดนโยบาย  “ 11 BCG Implementation ปี 2567”  โดยศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า  สวทช. ในยุค 6.0 ได้ประกาศวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้ สวทช. เป็นขุมพลังหลักของประเทศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ในการพัฒนาระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมให้เข้มแข็ง ตามนโยบายนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) “เอกชนนำ รัฐสนับสนุน” 

               ทั้งนี้ สวทช. ได้ระดมบุคลากรจากหลายส่วนงานมาร่วมขับเคลื่อนและผลักดันยุทธศาสตร์ NSTDA Core Business สร้างพลังวิจัยรับใช้สังคม โดยเพิ่มบทบาทการทำงานเชิงรุกผลักดันงานวิจัยให้เข้าถึงประชาชนและใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ช่วยลดช่องว่างปัญหาคอขวดของงานวิจัย ให้เห็นผลเป็นที่ประจักษ์ชัดในสังคมมากขึ้นและยังได้รับการตอบรับจากประชาชนผู้ใช้งานจริงหลักล้านคนในหลายภาคส่วน 

               โดยตัวอย่างผลงานในปี 2566 ที่ประชาชนและผู้ให้บริการจากหน่วยงานภาครัฐ สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากพัฒนาเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นโดย สวทช. และถูกนำไปใช้จริงในหน่วยบริการขนาดใหญ่ของภาครัฐเพื่อให้บริการภาคประชาชน  อาทิ Traffy Fondue แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมือง โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมและผู้ให้บริการมีระบบการติดตามแก้ปัญหาที่รวดเร็วขึ้น ผ่านช่องทางแอปพลิเคชันไลน์ (LINE @TraffyFondue)  ได้รับการตอบรับจากประชาชนผู้ใช้งานจริงหลักล้านคนในหลายภาคส่วน  มีผู้ร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue กว่า 5 แสนครั้ง สถิติการใช้งานทั่วประเทศพบว่าประชาชนใช้บริการร้องเรียนทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง   เจ้าหน้าที่รับเรื่องเร็วขึ้น 1.8 เท่า เวลาแก้ไขเร็วขึ้น 4 เท่า ปัจจุบันขยายผลไปยังหน่วยงานต่าง ๆ มากถึง 11,808 หน่วยงาน เจ้าหน้าที่ใช้งาน 54,768 คน ขยายผลการใช้งานไปใน 53 จังหวัดทั่วประเทศ โดยในจำนวนนี้มี 17 จังหวัดที่ใช้งานทุกส่วนราชการ   

               ส่วน A-MED Digital Healthcare Platform แพลตฟอร์มที่ถูกพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาการบริการด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยการพัฒนาระบบบริการด้านสาธารณสุข A-MED Care Pharma เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นปฐมภูมิผ่านร้านยา ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่าง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สภาเภสัชกรรม และร้านยาคุณภาพ ได้ใช้ประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีของทีมวิจัย สวทช.  ทำให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย (Common Illness) ใน 16 อาการ สามารถรับยาฟรีผ่านการดูแลโดยเภสัชกรที่ร้านยาคุณภาพใกล้บ้านได้ทันที ปัจจุบันมีร้านยาคุณภาพเข้าร่วมโครงการมากกว่า 1,600 แห่ง และให้บริการแล้วกว่า 1.1 ล้านครั้ง  

               นอกจากนี้ สวทช. ยังมีผลงานที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม  อาทิ  FoodSERP แพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน ในรูปแบบ One stop service ที่ครอบคลุมด้านพัฒนากระบวนการผลิตและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารฟังก์ชัน เวชสำอาง และสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ (Functional ingredients) วิเคราะห์ทดสอบด้านประสิทธิภาพ คุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์  ซึ่งให้บริการแก่ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชนและหน่วยงานภาครัฐ รวม 106 ราย สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ระดับอุตสาหกรรมได้มากถึง 18 ผลงาน

       และ Industry 4.0 Platform แพลตฟอร์มให้บริการ Digital Transformation สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตแบบครบวงจร ที่รวบรวมบริการและกิจกรรมสนับสนุนการยกระดับภาคอุตสาหกรรม ช่วยให้ผู้ประกอบการไทย สามารถดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนและของเสีย ลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถให้บริการแก่โรงงานกว่า 100 โรงงาน ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ออกมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยใช้ผลการประเมิน Thailand i4.0 Index เป็นเกณฑ์การพิจารณา ทั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถนำเงินลงทุน 100% ไปหักจากภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 3 ปีได้อีกด้วย

               ผู้อำนวยการ สวทช.  กล่าวว่า  ตลอดปี 2566 สวทช. สามารถผลิตผลงานวิจัยและเทคโนโลยีที่ภาครัฐ เอกชน และประชาชน นำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม มูลค่า 46,000 ล้านบาท เกิดการลงทุนทางด้าน วทน. มูลค่า 15,000 ล้านบาท ยกระดับอุตสาหกรรมด้วยโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยให้บริการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ และให้คำปรึกษาทางเทคโนโลยีมากกว่า 83,000 รายการ มีการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา พร้อมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาคเอกชนและอุตสาหกรรมนำไปสู่การใช้งานจริงเชิงพาณิชย์ มีการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและชุมชนให้เข้มแข็งโดยถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ 14,200 คน  และมีการพัฒนาและสร้างเสริมบุคลากรวิจัยให้แก่ประเทศ โดยสนับสนุนบัณฑิตและนักวิจัยอาชีพ ผ่านการให้ทุน รวม 713 คน และส่งเสริมการเรียนรู้ด้าน วทน. ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ และค่ายวิทยาศาสตร์ โดยมีเยาวชนและครูเข้าร่วม 10,264 คน

               นอกจากนี้ สวทช. ยังมีส่วนร่วมขับเคลื่อนแผนปัญญาประดิษฐ์ระดับประเทศ โดยทันทีที่มีแผนปฏิบัติการ AI ประเทศไทยขยับอันดับขึ้นจาก 59 เป็น 31 จากการจัดอันดับดัชนีความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของรัฐบาล อีกทั้งร่วมขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ระดับประเทศและจังหวัดนำร่อง มีจำนวนผู้ที่ได้รับการพัฒนาทักษะ BCG สะสม ปี 2564 – 2565 รวมกันกว่า 6 แสนคน และมีสัดส่วนของเศรษฐกิจ BCG สูงขึ้นในจังหวัดนำร่อง เช่น จันทบุรีและราชบุรี

               สำหรับในปี 2567 ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ   กล่าวว่า  สวทช. ยังคงมุ่งมั่นนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญการวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ขยายผลงานวิจัยไปยังภาคส่วนต่าง ๆ   โดยจะรวมพลัง สวทช. ขับเคลื่อนงานวิจัย 11 BCG Implementation ด้วยกลยุทธ์ “1 ลด – 2 เพิ่ม – 1 สร้าง” ที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างยั่งยืน

               “1 ลด” คือ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม  ด้วย 3 โครงการวิจัยหลัก คือ 1. ทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ช่วยให้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี สินค้าเกษตรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ได้รับการยกระดับด้วย วทน. 2. Traffy Fondue บริหารจัดการปัญหาเมือง เชื่อมโยงประชาชนเข้ากับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ และ 3.แพลตฟอร์มการสื่อสารของผู้พิการ & ผู้สูงอายุ  ซึ่งสนับสนุนการเข้าถึงสารสนเทศและการสื่อสารของคนพิการ

               “2 เพิ่ม” คือ  1. เพิ่มอัตราการเติบโตทางศรษฐกิจ  ด้วย 2 โครงการวิจัย คือ  สารสกัดมูลค่าสูง กะเพรา กระชายดำ ใบบัวบก โดยพัฒนากระบวนการผลิตสารสกัดมาตรฐาน ระดับอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์อาหาร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และ แพลตฟอร์มการผลิตอาหารฟังก์ชัน และ Functional Ingredients เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชัน อาหารเฉพาะทาง และอาหารอนาคต รวมถึงร่วมสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรม Functional ingredients ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารและเวชสำอางของประเทศ  และ 2. เพิ่มการพึ่งพาตนเอง ด้วย 4 โครงการวิจัย คือ   Digital healthcare  ,วัคซีนสัตว์  ,ชุดตรวจโรคไตและเบาหวาน  และ  National AI Ecosystem พัฒนาระบบนิเวศส่งเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ในภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม

                และ “1 สร้าง”  คือ สร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ด้วย 2 โครงการวิจัย คือ 1.ตัวชี้วัดและฐานข้อมูล CO2 , CE, SDGs พัฒนาตัวชี้วัดสำคัญเพื่อสนับสนุนแนวทาง SDGs ปรับปรุงฐานข้อมูลวัฎจักรชีวิตระดับประเทศ รวมถึงตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียน และ 2. Industry 4.0 Platform สนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน โดยมุ่งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้ทรัพยากร ลดการปลดปล่อยของเสีย และการปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียว

                อย่างไรก็ดี ในงานแถลงข่าว สวทช. ได้นำตัวอย่างผลงานวิจัยเด่นจาก 5 ศูนย์เทคโนโลยีแห่งชาติ มาร่วมจัดแสดง อาทิ  ชีวภัณฑ์เพื่อการเกษตร  จากไบโอเทค  ประกอบด้วย ชีวภัณฑ์ควบคุมแมลงศัตรูพืช และชีวภัณฑ์ควบคุมโรคพืช ชีวภัณฑ์ควบคุมวัชพืช นอกจากนี้ทีมยังได้พัฒนา SOP คู่มือการจัดการศัตรูพืชด้วยชีวภัณฑ์แบบครบวงจรสำหรับทุเรียนและถั่วฝักยาว เพื่อเป็นตัวช่วยให้เกษตรกรดูแลรักษาจัดการแปลงเกษตรกรรมของตน รวมถึงส่งเสริมให้ใช้ชีวภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และได้ดำเนินการเผยแพร่ในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-book) ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ของทีมวิจัยและพันธมิตร รวมไปถึงได้นำไปใช้เป็นสื่อเรียนรู้ในการจัดอบรมให้แก่เกษตรกรกว่า 150 ราย

               ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ HandySense  ผลงานจากเนคเทค ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเซนเซอร์และระบบควบคุมอัตโนมัติ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแปลงเพาะปลูก ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างน้อย 20% ปัจจุบันมีศูนย์ต้นแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มมากกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ และประกาศเป็นเทคโนโลยีแบบเปิด เพื่อให้ผู้สนใจนำไปใช้ประโยชน์

               ชุดตรวจวัดโลหะหนักในพืชสมุนไพรและน้ำ หรือ M Sense  ผลงานจากนาโนเทค สำหรับวิเคราะห์สารปนเปื้อนในรูปแบบต่างๆ นำร่องตรวจวัดไอออนแมงกานีส (Mn Sense) ฟลูออไรด์ (F Sense) และทองแดง (Cu Sense)  มุ่งเน้นการใช้งานภาคสนาม มีความไวและความจำเพาะสูง ใช้งานง่าย ต้นทุนต่ำ สามารถประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม บอกผลการวิเคราะห์ได้ทั้งเชิงคุณภาพด้วยการเปรียบเทียบแถบสี และบอกผลเชิงปริมาณโดยใช้ร่วมกับเครื่องอ่านสีแบบพกพา DuoEye Reader มีความถูกต้องแม่นยำสอดคล้องกับวิธีมาตรฐานในห้องปฏิบัติการ ราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับชุดตรวจที่นำเข้าจากต่างประเทศ

               “EnPAT” น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพชนิดติดไฟยากจากปาล์มน้ำมันไทย  ผลงานจากเอ็นเทค ช่วยป้องกันไฟไหม้จากเหตุการณ์หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด ยกระดับความปลอดภัยของประชาชน  พร้อมเปิดโอกาสสู่เศรษฐกิจโอเลโอเคมีมูลค่าสูง

               และ “Rachel” ชุดบอดี้สูทช่วยในการเคลื่อนไหวสำหรับผู้สูงอายุ  ผลงานจากเอ็มเทค ที่สามารถใช้สวมใส่ตลอดวัน ช่วยในการเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระและลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากกิจวัตรประจำวัน ที่เป็นการพัฒนาที่ผสมผสานองค์ความรู้สหวิทยาการ ได้แก่ ด้านวัสดุศาสตร์ (กล้ามเนื้อจำลอง) ชีวกลศาสตร์-กายวิภาคศาสตร์ (การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อและกระดูก) และแฟชั่นดีไซน์ (สวมและใส่สบาย) ที่เตรียมขยายผลการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์โดยผู้ผลิตเสื้อผ้าชั้นนำภายในประเทศ