เปิดเรื่องราวชีวิตหญิงแกร่ง CHRO แห่งทรู คอร์ปอเรชั่น “ ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ ”

i & Tech

          เพราะชีวิตคือบททดสอบ เปิดเรื่องราวชีวิตหญิงแกร่ง CHRO แห่งทรู คอร์ปอเรชั่น กว่าจะเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงกับหลากบททดสอบสุดหิน

          ไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้หญิงอยู่ในระดับบริหารมากที่สุดของโลก ถือครองสัดส่วนที่ 32% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 27% และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ 26% อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน (59%) แล้ว พบว่า การก้าวสู่ระดับของผู้หญิงนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก

          เนื่องในเดือนแห่งวันสตรีสากล True Blog ขอนำเสนอเรื่องราวอีกหนึ่งผู้นำหญิงที่อยู่เบื้องหลังภารกิจเปลี่ยนผ่านสู่ Telecom-Tech Company ของทรู คอร์ปอเรชั่น กว่าจะก้าวสู่ตำแหน่ง C-Suite บริหารองค์กรแสนล้าน พนักงานนับหมื่นราย เคียงข้างผู้บริหารชายอย่างสมศักดิ์ศรี ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 

ชีวิตคือบททดสอบ

          ศรินทร์รา เป็นคนกรุงเทพฯ ตั้งแต่กำเนิด จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการตลาด คณะบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ด้วยลักษณะนิสัยที่ชอบในความท้าทาย ตื่นตัวตลอดเวลา และไม่หยุดนิ่ง เธอจึงสมัครเข้าร่วมโครงการ Management Trainee (ผู้จัดการฝึกหัด) ของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างยูนิลีเวอร์ ซึ่งในปีนั้น เธอในวัย 21 ปี เป็นเพียง 1 ใน 5 ที่ผ่านการคัดเลือกจากผู้สมัครนับพันราย ขณะที่ผู้ผ่านการคัดเลือกที่เหลือล้วนหอบหิ้วดีกรีมาจากเมืองนอก พร้อมด้วยโปรไฟล์อันเลิศหรู

 “เข้าว่ายากแล้ว แต่การรักษาให้อยู่รอดในโครงการนั้น ยากกว่ามาก!” เธออธิบาย

          ทุก 6 เดือน ผู้ร่วมโครงการมีสิทธิหลุดออกจากโครงการได้ตลอด หากไม่สามารถทำผลงานได้ตามตัวชี้วัด (KPIs) ในช่วงแรกของโครงการ ศรินทร์ราได้รับมอบหมายให้ดูแลร้านค้าโชว์ห่วยในตลาดต่างจังหวัด แต่ลองจินตนาการพื้นที่ต่างจังหวัดเมื่อ 30 ปีก่อนที่โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกยังไม่พัฒนาเหมือนในปัจจุบัน การใช้ชีวิตของผู้หญิงเมืองกรุงฯ ในต่างจังหวัดจึงเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่มองข้ามไปไม่ได้เลย

          นอกจากข้อจำกัดทางร่างกายของผู้หญิงแล้ว กำแพงทางเพศในสังคมต่างจังหวัดแบบดั้งเดิมเมื่อ 30 ปีก่อน ยังกลายเป็นบททดสอบให้เธอต้องพิสูจน์ถึงความเป็น “หัวหน้างาน” ให้ได้ บางครั้งมีการหยั่งเชิงความสามารถ เริ่มออกสำรวจตลาดตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม สภาพอากาศแปรปรวน ทั้งร้อนและฝนตก

          บางครั้ง ตู้โชว์สินค้าไม่สะอาด เกราะกรังด้วยสิ่งสกปรกทั้งขี้หนูและซากแมลงสาป แต่กระนั้น เพื่อแสดงออกและพิสูจน์ถึงความเป็นผู้นำ บางสิ่งที่ไม่อยากทำก็จำเป็นต้องทำ ทำลายอัตตาของตัวเอง และนั่น คือบททดสอบที่ทำให้ศรินทร์ราได้มาซึ่งความเห็นอกเห็นใจ (Empathy)

ก้าวข้ามอคติทางเพศ

          ที่ยูนิลีเวอร์ เธอยังได้รับความไว้วางใจให้ร่วมโครงการใหญ่ๆ อีกหลายโปรเจกต์ โดยหนึ่งในนั้นคือ การเซ็ตอัพทีมทำงานที่ตลาดจีน ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ และที่เวียดนาม ภายหลังที่ยูนิลีเวอร์ได้ซื้อกิจการ Best Foods บริษัท FMCG ยักษ์ใหญ่อีกแห่งของโลก โดยทีม Regional ได้มีการคัดเลือกหัวกะทิของทีมในเอเชีย 14  ประเทศ ซึ่งศรินทร์ราเป็นหนึ่งในนั้นและเป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับคัดเลือก

          เธอบอกว่า การทำงานที่จีนและเวียดนามมีความท้าทายมาก นอกจากความแตกต่างด้านภาษาและวัฒนธรรมแล้ว ความเป็นปิตาธิปไตยของสังคมอย่างเข้มข้นก็เป็นอีกปัจจัยท้าทาย พนักงานที่นั่นส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย การคัดเลือกคนมาร่วมทีม ผู้สมัครที่ผ่านเข้าสู่รอบสัมภาษณ์ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ชาย ทำให้องค์กรขาดความหลากหลาย ที่สำคัญ เธอยังต้องทำงานอย่างหนักให้พนักงานชายใต้บังคับบัญชาเห็นความสามารถ ซึ่งท้ายที่สุด ทุกคนล้วนให้การยอมรับจากผลงาน อย่างที่เวียดนาม โปรเจกต์สินค้าส่งเสริมการขาย (Merchandise) ได้รับการยกย่องให้เป็น Best Practice และต่อยอดไปทั้งภูมิภาค

          “ในสังคมที่ยังคงมีอคติทางเพศ การมีความอดทนอดกลั้น “รู้จักปรับตัว (Resilience)” ถือเป็นหลักที่สำคัญของการทำงานเลยทีเดียว เราต้องคว้าโอกาสและต่อยอด ทำงานให้หนัก มีความมุ่งมั่น รู้จักใช้ข้อได้เปรียบของการเป็นผู้หญิง เช่น ความอ่อนน้อมถ่อมตน เข้าถึงง่าย และให้เกียรติผู้อื่น คุณลักษณะเหล่านี้ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่นำไปสู่เส้นทางแห่งความสำเร็จ” ศรินทร์รา กล่าว

          ภายหลังร่วมงานกับยูนิลีเวอร์ราว 17 ปี เธอย้ายไป SCB 1 ปี ก่อนที่จะมาร่วมงานกับทรู คอร์ปอเรชั่น โดยทำหน้าที่ดูแล Retail Shop

          ในการประชุมครั้งแรก เธอรู้สึกตกใจปนประหลาดใจอย่างมาก เธอเป็นผู้หญิงคนเดียวในห้องประชุม ทุกอย่างใหม่หมดสำหรับเธอ ทั้งลักษณะธุรกิจ โครงสร้าง ศัพท์แสง ฯลฯ จนถึงขั้นพูดกับตัวเองว่า “ไหวไหม?” แต่ด้วยสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี ผู้บริหาร เพื่อนร่วมงานมีใจเปิดกว้าง และความมุ่งมั่นในงาน ทำให้เธอข้ามผ่านมาได้

หน้าที่ลูก

          มีครอบครัวเปรียบได้เหมือนทางแยกของชีวิต ผู้หญิงหลายคนเลือกหน้าที่แม่แทนความก้าวหน้าชีวิตทำงาน แต่สำหรับศรินทร์รา คำว่าครอบครัวของเธอมีความผูกพันกับแม่อย่างอนันต์ เพราะคุณพ่อเสียชีวิตเมื่อเธอมีอายุเพียง 2 ปี คุณแม่จึงทำหน้าที่คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ศรินทร์รายินดีแบกรับหน้าที่อันหนักหน่วงแต่มีความสุข นั่นคือ การทำหน้าที่ลูก ด้วยคุณแม่ของเธอเป็นผู้ป่วยติดเตียงนาน 6 ปี ในขณะที่กราฟชีวิตงานกำลังพุ่งทะยาน

          ขณะนั้น เธอได้รับมอบหมายมาดูแลงานด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นที่ใหม่มากสำหรับเธอ จากดูแลคนไม่กี่ร้อย กลายเป็นหมื่น ในเวลาเดียวกัน คุณแม่ต้องเข้ารับการผ่าตัดด่วน และมักมีเหตุการณ์เร่งด่วนเกี่ยวกับสุขภาพคุณแม่เสมอ ตัวเลือกเพียงหนึ่งเดียวที่เธอทำคือ ขยัน!

          ในระหว่าง 6 ปีนั้น ชีวิตของศรินทร์รามีเพียง 2 อย่าง คือ แม่กับงาน ตื่นนอนตี 5 เตรียมยาให้แม่ 7 โมงออกจากบ้าน ไม่เกิน 8 โมงถึงออฟฟิศ กลับถึงบ้าน 2-3 ทุ่ม สวดมนต์และเฝ้าแม่ถึงเที่ยงคืน ทำอย่างนี้ทุกวันเป็นเวลา 6 ปีเต็ม เรียกได้ว่า เต็มที่กับทั้งชีวิตงานและชีวิตส่วนตัว

          “Compassion สิ่งที่พี่ให้คุณค่าอย่างมาก เพราะพี่เชื่อว่าความรักจะนำพาเราไปสู่ความสำเร็จ กรณีของพี่ ทั้งงานและแม่ คือความรักของพี่ นั่นจึงทำให้พี่เต็มที่กับมันทั้งคู่ ทำให้ดีที่สุด เพื่อที่เราจะไม่เสียใจภายหลัง”

เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ

          เช่นเดียวกัน คุณแม่คนนี้เองที่เป็น Role Model ของเธอ แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็ง อดทน การมีเมตตา ทักษะการเอาตัวรอด ความมีไหวพริบ ความคล่องตัว เพราะการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวในวัย 45 ไม่ง่ายเลย สิ่งเหล่านี้ได้หล่อหลอม ส่งต่อ และปรับใช้จนเป็นศรินทร์ราในทุกวันนี้

          “ผู้หญิงเรา หากต้องการประสบความสำเร็จ ต้องมี Ambition และอย่าไขว้เขวหรือสูญเสียมันไป เชื่อมั่นในศักยภาพและคุณค่าของตัวเอง แม้ระหว่างทางจะมีอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแม่ของลูก หรือลูกของแม่ ลูกน้องของเจ้านาย หรือเจ้านายของลูกน้อง และเราควรนำลักษณะเด่นของผู้หญิงมาเติมเต็มให้เป้าหมายสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความละเอียดอ่อน การเห็นอกเห็นใจ การดูแลเอาใจใส่” ศรินทร์ราเผย

          ทุกวันนี้ ผู้หญิงตัวเล็กแต่ใจใหญ่คนนี้ ไม่เพียงมุ่งมั่นนำพาองค์กรเปลี่ยนผ่านสู่ Telecom-Tech Company เท่านั้น ขณะเดียวกัน เธอยังคงทำหน้าที่ส่งต่อแรงบันดาลใจผ่านการทำหน้าที่ mentor ให้กับเยาวชนหญิงเพื่อทำฝันให้เป็นจริง และการให้ (Give) นี้เอง คือเป้าหมายและคุณค่าของการดำรงอยู่ของหญิงแกร่งนามว่า “ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์”