สวทช.เปิดตัว 3 โครงการทุนวิจัย “ล้านช้าง-แม่โขง” เพื่อขยายผลการพัฒนาอย่างยั่งยืน

News Update

สวทช.เปิดตัว 3 โครงการที่ได้รับทุนจากกองทุนพิเศษความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง จากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งวิจัยเห็ดกินได้  มันสำปะหลัง และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ระบบราง หวังขยายเครือข่ายต่อยอดสร้างผลกระทบของโครงการ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตในประเทศกลุ่มลุ่มน้ำโขง

           เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567   กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แถลงข่าวเปิดตัว 3 โครงการที่ได้รับทุนจากกองทุนพิเศษความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (LMCSF Funded Project) โดยรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน   เพื่อประชาสัมพันธ์แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และขยายเครือข่ายต่อยอดการสร้างผลกระทบของโครงการ ซึ่งประกอบการถ่ายทอดเทคโนโลยีและเพิ่มมูลค่าเห็ดบริโภคได้ การส่งเสริมการผลิตมันสำปะหลังที่ยั่งยืน และการเพิ่มขีดความสามารถและเตรียมร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์รองรับโครงการรถไฟความเร็วสูง

           ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า ในปี 2566 สวทช. ได้รับทุนจากกองทุนความร่วมมือพิเศษล้านช้าง-แม่โขง หรือ LMCSF จำนวน 3 โครงการ คือ โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเห็ดบริโภคได้เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเกษตรที่ยั่งยืนระหว่างประเทศในภูมิภาคแม่น้ำโขง และโครงการส่งเสริมการผลิตมันสำปะหลังที่ยั่งยืนโดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภูมิภาคแม่น้ำโขง จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. และ โครงการเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมในประเทศและการจัดเตรียมร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ตามข้อกำหนดของโครงการรถไฟความเร็วสูง ของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช.  

            โดยทั้ง 3 โครงการได้รับสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ จำนวน 734,092 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 25,830,423 บาท ซึ่งกองทุนพิเศษความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงนี้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2560 ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อสนับสนุนความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อการพัฒนาแก่ประเทศลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ ไทย เวียดนาม และจีน โดยจะสนับสนุนแก่โครงการขนาดกลางและขนาดเล็กที่ส่งเสริมการพัฒนาในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง  ซึ่งความร่วมมือเหล่านี้ ไทยจะเป็นทั้งศูนย์กลางการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังประเทศลุ่มน้ำโขง ขณะเดียวกันจะได้รับประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีและกิจกรรมความร่วมมืออื่น ๆ จากประเทศจีนเช่นกัน

           “ความร่วมมือดังกล่าว เป็นการร่วมกันใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งตรงกับพันธกิจหลักของสวทช.อยู่แล้ว ประกอบกับสวทช.มีนักวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งเรื่องของการเกษตร และเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งข้อดีของความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือไม่มีข้อจำกัดทางด้านการเมืองแต่จะเน้นให้เกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่ ดังนั้นการถ่ายทอดจะไม่มีการคำนึงถึงมูลค่าของเทคโนโลยีที่ส่งผ่านมา  ซึ่งโครงการความร่วมมือในปีนี้มีทั้งเรื่องมันสำปะหลัง เห็ดกินได้และเห็ดมูลค่าสูง รวมถึงเรื่องระบบรางที่ประเทศไทยกำลังให้ความสำคัญอย่างมาก ซึ่งประเทศจีนมีความก้าวหน้าเรื่องรถไฟความเร็วสูง หลังจากที่สามารถสร้างเทคโนโลยีเป็นของตัวเองได้  มีการขยายและมีระบบรางรวมในประเทศที่ยาวที่สุดในโลก ดังนั้นเมื่อประเทศไทยจะพัฒนารถไฟฟ้าความเร็วสูง  และต้องการให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ รวมถึงสร้างอุตสาหกรรมแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ใช่แค่องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แต่รวมถึงการสร้างโรงงานการผลิต สร้างสายการผลิต  และการทดสอบมาตรฐานต่าง ๆ   โครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มที่สามารถขยายผลไปยังโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งใน สวทช.และหน่วยงานอื่น ๆ ในกระทรวงอว.ที่ทำเรื่องระบบราง เช่น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย รวมถึงมหาวิทยาลัยต่าง  ๆ อีกด้วย”

            นายหม่า มิงเกิง (Mr. Ma Minggeng) ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ขอแสดงความยินดีกับ สวทช. ที่ได้รับทุนวิจัยใน 3 โครงการ ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ลงนามข้อตกลงระดับรัฐบาลว่าด้วยความร่วมมือสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครั้งแรกในปี ค.ศ. 1978 จนปัจจุบันเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมสนับสนุนโครงการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากกว่า 1,000 โครงการ นับตั้งแต่การเปิดตัวความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง ซึ่งเป็นกลไกความร่วมมือระดับภูมิภาคครั้งแรก โดยมีเป้าหมายในการสร้างชุมชนที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างจีนกับประเทศในลุ่มน้ำโขง ซึ่งประเทศเหล่านี้ทั้งหมดอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในการเร่งการพัฒนาและตระหนักถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่การปลูกฝังการพัฒนากำลังการผลิตใหม่ ๆ ระดับภูมิภาค เพื่อส่งเสริมความได้เปรียบทางการแข่งขันของอุตสาหกรรม

           กว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยให้ความสำคัญกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก ถือเป็นพลังขับเคลื่อนหลักของประเทศ เห็นได้ชัดเจนจากแผนพัฒนาประเทศไทย 4.0 โมเดล BCG และเป้าหมายการหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ด้วยการพึ่งพานวัตกรรมทางเทคโนโลยี  อย่างไรก็ดีคาดหวังว่าทั้ง3โครงการดังกล่าวจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง  ให้อยู่ดีกินดี สร้างงาน เพิ่มรายได้ และมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปช่วยทำให้ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีการเจริญเติบโตได้แบบยั่งยืน

            สำหรับ”โครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเห็ดบริโภคได้เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเกษตรที่ยั่งยืนระหว่างประเทศในภูมิภาคแม่น้ำโขง”  หรือ Technology transfer and knowledge exchange on edible mushrooms for economic and agriculture sustainable development among countries in the Mekong region  ดร.อัมพวา ปินเรือน หัวหน้าโครงการและนักวิจัยทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า  โครงการได้รับทุนจำนวน 258,059 ดอลลาร์สหรัฐ  หรือ  9,072,323 บาท โดยประมาณ เป็นระยะเวลา 3 ปี (2567 – 2570)  โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขี้นให้แก่ประชาชนไทยและประชาชนในกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านทรัพยากรเห็ด รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และส่งเสริมความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง

           กิจกรรมภายใต้โครงการประกอบด้วย การศึกษา พัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยีและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรเห็ดป่าและคอร์ไดเซบ (กลุ่มถั่งเช่า) ที่ใช้บริโภคได้ในแต่ละพื้นที่ การค้นหาหรือพัฒนาสายพันธุ์เห็ดเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่จะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์นำเข้า รวมทั้งเปิดโอกาสทางการตลาด ส่งเสริมการบริหารจัดการและควบคุมกระบวนการเพาะเห็ดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยการใช้น้ำและพลังงานการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งลดหรือจัดการของเสียจากกระบวนการผลิตเห็ด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มจากเห็ดและคอร์ไดเซบ รวมถึงการเพาะเห็ดร่วมกับไม้ป่าซึ่งจะเป็นการเพิ่มผลผลิตของเห็ดป่าในธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในชนบท สร้างโอกาสการอยู่ร่วมกับป่าได้โดยไม่ทำลายป่าและลดความเสี่ยงต่อการเก็บเห็ดพิษมาบริโภค ซึ่งการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้นี้จะช่วยเพิ่มความสามารถและความเข้มแข็งในอุตสาหกรรมการผลิตเห็ดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเห็ดและคอร์ไดเซบ ควบคู่กับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

           ด้านดร.แสงสูรย์ เจริญวิไลศิริ หัวหน้าโครงการและนักวิจัยทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ ไบโอเทค สวทช. กล่าวถึงโครงการการส่งเสริมการผลิตมันสำปะหลังที่ยั่งยืนโดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภูมิภาคแม่น้ำโขง หรือ  Promotion of Sustainable Cassava Production in the Mekong Region through Dissemination of Cassava Mosaic Disease Diagnostic and Clean Cassava Seed Production Technologies ว่า  โครงการได้รับทุน จำนวน 288,846 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 10,161,603 บาท โดยประมาณ เป็นระยะเวลา 3 ปี (2567 – 2570)

             ทั้งนี้มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งไทยถือเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังมากที่สุดในโลก แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังต้องเผชิญวิกฤตโรคใบด่างมันสำปะหลังที่เกิดการระบาดอย่างหนัก ส่งผลให้ผลผลิตลดลงทั้งปริมาณและคุณภาพ รวมถึงการขาดแคลนท่อนพันธุ์สะอาดเพื่อนำมาปลูกต่อไป เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคและการขาดแคลนท่อนพันธุ์สะอาด ไบโอเทคได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตท่อนพันธุ์สะอาดที่มีคุณภาพ ทำให้สามารถผลิตต้นพันธุ์ได้ปริมาณมากภายในเวลารวดเร็ว ได้แก่ เทคนิค tissue culture และเทคนิค mini stem cutting

           นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลัง สำหรับใช้ตรวจคัดกรองโรคในกระบวนการผลิตต้นพันธุ์สะอาดและการติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคในแปลงปลูก ได้แก่ เทคนิค ELISA และเทคนิค immunochromatographic strip test โดยไบโอเทคได้เริ่มมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวข้างต้น ให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยแล้ว ภายใต้โครงการนี้ทีมวิจัยจะนำเทคโนโลยีการผลิตต้นพันธุ์สะอาดและการตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลัง ไปขยายผลให้เกิดการใช้ประโยชน์ในวงกว้างในกลุ่มประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง

           ขณะที่ ดร.เอกรัตน์ ไวยนิตย์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ เอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า โครงการการเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมในประเทศและการจัดเตรียมร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ตามข้อกำหนดของโครงการรถไฟความเร็วสูง    หรือ Technological Capability Enhancement of Local Industries and Product Standardization Initiative in Accordance with High-speed Railway Project Requirements  ได้รับทุนวิจัยจำนวน 187,187 ดอลลาร์สหรัฐ (6,596,497 ล้านบาท โดยประมาณ) เป็นระยะเวลา 2 ปี (2567 – 2569)

           ปัจจุบันพบว่า บุคลากรในภาคการศึกษา วิจัยและพัฒนา และภาคอุตสาหกรรม ของกลุ่มประเทศล้านช้าง-แม่โขงยังคงขาดทักษะความรู้และความเข้าใจด้านเทคโนโลยีสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์มาตรฐานสูงสำหรับใช้ในโครงสร้างพื้นฐานของโครงการรถไฟความเร็วสูง รวมถึงอุตสาหกรรมในประเทศที่ยังขาดโอกาสการเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานของโครงการรถไฟความเร็วสูง เนื่องจากมีประสบการณ์ไม่เพียงพอในการผลิตผลิตภัณฑ์มาตรฐานสูงป้อนเข้าสู่การใช้งานในโครงการรถไฟความเร็วสูง

           ทีมวิจัยจึงเล็งเห็นจุดควรปรับปรุงที่จะนำไปใช้การริเริ่มสร้างกรอบการทำงานที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย โดยเริ่มจากการยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมในประเทศที่กำลังดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยสร้างความยั่งยืนเชิงเศรษฐกิจ และสังคมระยะยาวให้กับประเทศในกลุ่มล้านช้าง-แม่โขง

           นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการจัดทำร่างมาตรฐานของสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตในประเทศก่อนเสนอต่อหน่วยงานมาตรฐานระดับประเทศเพื่อใช้อ้างอิงในการประกาศรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำหรับนำไปใช้ในโครงการรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย และจะขยายผลโดยการส่งต่อองค์ความรู้ไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่จะมีโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีประสบการณ์ดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง รวมถึงการสร้างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถไฟความเร็วสูงอย่างเป็นระบบตลอดช่วงระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา