ETDA-IBM ร่วมพัฒนามาตรฐานธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ประเทศไทยด้วยบล็อกเชน

i & Tech

ETDA ผนึก IBM ใช้บล็อกเชนทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หวังพัฒนามาตรฐานรองรับการใช้ลายมือดิจิทัล และการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ เชื่อมโยงรัฐ-เอกชน ใช้เทคโนโลยีอย่างมั่นคงและปลอดภัย

               นายชัยชนะ  มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส)  เปิดเผยว่า ETDA มีภารกิจด้านการจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรฐาน และการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์  เพื่อให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่สอดคล้องและมีการเชื่อมโยงกันอย่างมั่นคงปลอดภัย และน่าเชื่อถือ ขณะที่ทางไอบีเอ็มเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ในการวางโครงสร้างพื้นฐานและระบบบนเทคโนโลยีบล็อกเชนที่สำคัญทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงเป็นผู้ให้ข้อมูลในการพัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับบล็อกเชนในเวทีระดับสากลหลายเวที

               ทั้งนี้ ETDA ได้เร่งดำเนินการโดยเฉพาะในเรื่องของ Digital Standard Landscape ในส่วนของ Digital Services เพื่อทำให้เกิดแผนภาพของธุรกิจบริการดิจิทัลสำคัญและมาตรฐานที่จำเป็นของแต่ละธุรกิจบริการที่ควรต้องมีความน่าเชื่อถือและมั่นคงปลอดภัย รวมทั้งเป็นการสร้างความพร้อมและรองรับการต่อยอดได้กับทุกระบบการบริการอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นภายใต้ภารกิจของทั้งสองหน่วยงาน จึงได้เกิดความร่วมมือกันในการพัฒนามาตรฐานระบบการจัดการกุญแจเข้ารหัสลับแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Key Management System หรือ DKMS) ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมาสนับสนุน Ecosystem ของการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) และลายมือชื่อดิจิทัล (Digital signature)

               โดยการลงนามความร่วมมือนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุน แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับการใช้บล็อกเชนสำหรับ Digital ID และ Digital signature รวมทั้งพัฒนามาตรฐาน หรือกลไกการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับบริการดิจิทัลที่จะใช้ระบบ Decentralized Key Management System สำหรับ Digital ID และ Digital signature โดยทั้ง ETDA และ IBM จะเปิดเวทีให้บริษัทและหน่วยงานที่สนใจ เข้ามาร่วมกันพัฒนาและกำหนดมาตรฐาน เพื่อทำให้เกิดการทำงานของระบบที่เชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพ มีความมั่นคงปลอดภัยและมีความน่าเชื่อถือ

               “การทำความร่วมมือนี้จะทำให้ ETDA ได้รับความรู้โดยตรงเกี่ยวกับระบบการจัดการกุญแจเข้ารหัสลับ แบบใหม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากไอบีเอ็มเป็นบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลก และเป็นหนึ่งในผู้นำเรื่องบล็อกเชน ที่มีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งจะทำให้ ETDA สามารถนำความรู้นี้ไปต่อยอดในการพัฒนากรอบแนวทางของเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานกุญแจสาธารณะ หรือ Public Key Infrastructure (PKI) แบบกระจายศูนย์ต่อไปได้ ขณะเดียวกัน การทำข้อเสนอแนะมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ด้าน Decentralized Key Management System นี้จะทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนที่นำไปใช้มีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งในประเทศไทย มีบริษัทเอกชนอีกหลายรายที่ดำเนินการ หรือมีความพร้อมและความเชี่ยวชาญลักษณะเดียวกันนี้ ETDA ก็พร้อมที่จะมีความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะสุดท้ายก็เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ” นายชัยชนะ กล่าว

               ด้านนางสาวปฐมา  จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ และมีอีโคซิสเต็มทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ร่วมเดินหน้าขับเคลื่อน ไอบีเอ็มมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสนำความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และประสบการณ์ในการพัฒนาแพลตฟอร์มระดับโลกบนเทคโนโลยีบล็อกเชน มาสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ประเทศไทย เข้ามาช่วยสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานและกลไกด้าน Digital ID และ Digital signature ซึ่งถือเป็นก้าวย่างสำคัญของไทยในการเดินหน้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มตัว

               ปัจจุบันธุรกิจการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่มีการทำธุรกรรมเฉลี่ยสูงถึง 61.3 พันล้านรายการต่อวัน สูงขึ้นถึง 53% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับธุรกรรมการชำระเงินผ่านโมบายล์แบงก์กิง ที่มีปริมาณกว่า 4,925 ล้านรายการ และอินเตอร์เน็ตแบงก์กิง ที่มีปริมาณกว่า 569 ล้านรายการในปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า (ปี 2561) คิดเป็น 173.46% และ 199.93% ตามลำดับ