เตรียมตัวให้พร้อม…แล้วไปเปิดโลกการเรียนรู้วิทย์ฯ แบบไฮบริดใน “มหกรรมวิทย์ฯ 2564”

Cover Story

           ต้อนรับ…การกลับมาอีกครั้ง กับ “งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2564”

​           กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไทย ซึ่งก่อนที่จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19มีเยาวชนและผู้สนใจเข้าร่วมชมงานปีละกว่า 1 ล้านคน

​           สำหรับปีนี้ …กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ 77 หน่วยงานทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. ภาครัฐ เอกชน มูลนิธิ สมาคม และหน่วยงานจากต่างประเทศอีก  6 ประเทศ    จัดงานดังกล่าวขึ้นระหว่างวันที่ 9–19 พ.ย. 2564   ที่อิมแพค เมืองทองธานี  

​           ในรูปแบบ “ไฮบริดอีเว้นท์” เพื่อลดช่องว่างของการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในกับเยาวชนไทยในยุคโควิด-19   โดยผสมผสานระหว่างการเข้าชมงานในสถานที่จัดงานจริง หรือเลือกท่องนิทรรศการเสมือน และร่วมกิจกรรมของงานได้แบบทุกที่ทุกเวลา ผ่านช่องทางออนไลน์

​           งานจัดขึ้น ภายใต้แนวคิด “ศิลปะ วิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Art – Science – Innovation and Creative Economy)”  

​           ซึ่งเน้นใน 2 เรื่องหลักที่กระทรวง อว. พร้อมเดินหน้าเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านบีซีจีโมเดล และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ใน 2 สาขาไปพร้อม ๆ กัน คือด้านวิทยาศาสตร์  และสังคมศาสตร์

​           สอดคล้องกับธีมการจัดงาน … นิทรรศการที่จัดจะเน้นเรื่องการออกแบบที่คำนึงถึงการใช้ผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด การใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดหรือประหยัดทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค  และมีการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เยาวชนได้มีบทบาทภายในงานมากขึ้น ทั้งที่เข้าร่วมกิจกรรมในสถานที่จริง และการเข้าร่วมกิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์

​           สำหรับไฮไลท์นิทรรศการหลัก.. ที่น่าสนใจนอกจากนิทรรศการเทิดพระเกียรติ  ที่เปี่ยมด้วยคุณูปการและพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์ของพระมหากษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแล้ว ยังมีนิทรรศการโลกดิจิทัลไร้พรมแดนกับเทคโนโลยี 5 G  ที่จะสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมมอบประสบการณ์การเรียนรู้ เกี่ยวกับเทคโนโลยีไร้สายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  การใช้ประโยชน์จาก5G ในด้านต่าง ๆ  มีกิจกรรมที่ทำให้ใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างแรงบันดาลใจในการนำไปพัฒนาต่อยอด

​           และนิทรรศการโครงร่างสร้างเรื่อง  หรือ Skeleton  Matters ที่นำเสนอเรื่องราวมหัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิตผ่านมุมมองของโครงร่างของสิ่งมีชีวิตนานาชนิด ผ่านสื่อการจัดแสดง Kinect  Exhibition &Interactive

นายสุวรงค์ วงษ์ศิริ

​           “ นายสุวรงค์ วงษ์ศิริ ”   รักษาการแทน ผอ.องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) บอกว่า “เนื่องจากธีมงานเป็นเรื่องของศิลปะและวิทยาศาสตร์ผสมผสานกัน ทุกสิ่งอย่างที่ออกแบบจะมีการแทรกศิลปะเข้าไป  ซึ่งไฮไลท์นิทรรศการหลักนอกจาก 2 เรื่องที่กล่าวมาแล้ว  ยังมีนำเสนอถึงแนวคิดอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะในส่วนนิทรรศการเอกลักษณ์ของงาน( Landmark  Exhibition) ที่จะใช้ในพิธีเปิด ที่นำเสนอSCIENCE speaks ART  / ART speaks  SCIENCE “ศิลป์แสดงวิทย์-วิทย์แสดงศิลป์” ซึ่งมีการผสมผสานเสียงดนตรี ที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวของกลไกต่าง ๆ  เพราะเมื่อ 2500 ปีที่แล้ว ปราชญ์ชาวกรีก ชื่อพีทาโกรัส ได้ศึกษาเรื่องโน้ตดนตรี ที่มีความสัมพันธ์กับคณิตศาสตร์  แสดงให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์กับศิลปะมีคู่กันมาตั้งแต่อดีต สอดคล้องกับนโยบายของ “ ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก   เหล่าธรรมทัศน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ที่ท่านอยากจะให้เยาวชนไทย เรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบมีสุนทรียภาพ ไม่ใช่แค่ท่องสูตร เขียนสมการอย่างเดียว”

​           ส่วน นิทรรศการหมื่นจินตนาการ ล้านความรู้   จะพาท่องโลกของนิยายวิทยาศาสตร์ ที่เปรียบเสมือนขุมทรัพย์แห่งแนวคิดของผู้คนทั่วโลก   เป็นจุดร่วมของศิลปะ วิทยาศาสตร์และจินตนาการและส่งผลต่อการสร้างนวัตกรรมที่ยกระดับความเป็นอยู่ของคนทั้งโลก

​           นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการที่น่าสนใจจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติหรือสดร.นำเสนอ “Space Exploration and Technology”กิจกรรมการเรียนรู้พื้นฐานของการส่งยานอวกาศขึ้นสู่อวกาศและชมภาพยนตร์ในท้องฟ้าจำลองขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8  เมตร   สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศหรือจิสด้า นำเสนอภารกิจดาวเทียมธีออส 2  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือสวทช. นำเสนอผลงานวิจัยเด่นในรอบ30ปีที่ผ่านมา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือวว. นำเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยไม้ดอกไม้ประดับ    และอพวช.นำเสนอ ศาสตร์ศิลป์ในเสียง ซึ่งเป็นนิทรรศการเล่าเรื่องราวของเสียงในมิติของความเป็นวิทยาศาสตร์ และเสียงในความเป็นศิลปะ

 ​           ผู้สนใจ …สามารถเข้าถึงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในมหกรรมวิทย์ ฯ ปีนี้ได้ใน2 ช่องทางคือช่องทางแรกคือ เข้าชมนิทรรศการเสมือน (Virtual Exhibition) อย่างไร้ข้อจำกัดเวลาและสถานที่บนโลกออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์งาน www.thailandnstfair.com ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 64 เป็นต้นไป และสามารถรับชมกิจกรรมและนิทรรศการต่างๆ ที่จัดขึ้น การเยี่ยมชมงานของพรีเซนเตอร์ ‘เต-ตะวัน’ และเหล่าคนดังที่มาเยี่ยมชมงานที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ทางเฟสบุ๊กของงาน NSTFair Thailand www.facebook.com/nstfairTH  รวมทั้งร่วมสนุกกับกิจกรรมแจกของรางวัล Limited Edition ตลอดการจัดงานทุกวัน  

​           และช่องทางที่สองคือเข้าชมงานในสถานที่จริง (On ground Platform) ที่จะจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 9-19 พฤศจิกายน 2564 ณ อาคาร 9-12 อิมแพค เมืองทองธานี เปิดให้เข้าชมงานฟรี! ตั้งแต่เวลา 09.00-19.00 น. โดยมีมาตรการจำกัดผู้เข้าชมงาน และมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19  ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนจองสิทธิ์เข้าชมงานล่วงหน้าผ่านทางเว็บไซต์งาน

            ทั้งนี้  “ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”  นายกรัฐมนตรี จะมาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน ฯ วันที่ 10 พ.ย.นี้ พร้อมมอบรางวัล PM Award ให้แก่ครูอาจารย์และนักเรียนที่มีผลงานด้านวิทยาศาสตร์ดีเด่น เพื่อเป็นการเชิดชูและให้กำลังใจบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ของไทย.