เรือด่วนเจ้าพระยาจับมือGPSCพัฒนาต้นแบบแบตเตอรี่เรือโดยสารไฟฟ้าครั้งแรกของประเทศไทย

New Energy

เรือด่วนเจ้าพระยา ร่วมกับ  GPSC ลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการพัฒนาต้นแบบแบตเตอรี่เรือโดยสารไฟฟ้าครั้งแรกของประเทศไทย

                เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 ที่สุภัทรา ริเวอร์ เฮ้าส์  นางสุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม ประธานกรรมการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด  ร่วมลงนามความร่วมมือกับ นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในพิธีลงนาม “บันทึกข้อตกลง (MOU)   โครงการพัฒนาต้นแบบแบตเตอรี่ และระบบขับเคลื่อนเรือโดยสารไฟฟ้า”  โดยมี นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดี ด้านปลอดภัย กรมเจ้าท่า เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นาวาตรี เจริญพร เจริญธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด และนายลักษณะปรีชา ครุฑขุนทด ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส นวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงาน GPSC และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยานความร่วมมือในครั้งนี้

                นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดี ด้านปลอดภัย กรมเจ้าท่า กล่าวว่า กรมเจ้าท่า ในสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่ผ่านมามีโครงการการดำเนินงานพัฒนายานพาหนะด้วยพลังงานไฟฟ้า หลากหลายโครงการ ร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการนำเทคโนโลยีด้านพลังงานไฟฟ้าเข้ามาใช้กับตัวเรือและท่าเรือ ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการพัฒนาต้นแบบแบตเตอรี่เรือโดยสารไฟฟ้าที่ร่วมมือระหว่างบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด และ GPSC นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ตอบโจทย์การลดใช้เชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพ และมองเห็นผลที่จะสามารถพัฒนาไปยังโครงการต่าง ๆ ตามแผนพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งในการนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้แทนสอดรับกับแผนการพัฒนาประเทศ ลดปัญหาการจราจรทางบก ลดมลภาวะให้เกิดการขับเคลื่อนส่งเสริมนำเรือพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในระบบการคมนาคมขนส่งทางน้ำอย่างเต็มรูปแบบและเป็นรูปธรรมต่อไป

                นางสุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม ประธานกรรมการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ผู้ให้บริการเรือด่วนเจ้าพระยา กล่าวว่า ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา  บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด หนึ่งในบริษัทในกลุ่มสุภัทรามีนโยบายส่งเสริมการลดใช้เชื้อเพลิงน้ำมันมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการลดมลภาวะทางอากาศและเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมดังนั้นการพัฒนาเรือโดยสารไฟฟ้าจึงเป็นเป้าหมายหลักที่กลุ่มบริษัทฯต้องการที่จะพัฒนาและปรับรูปแบบมาใช้เรือโดยสารไฟฟ้าในการให้บริการมากขึ้น ทั้งนี้การลงนามความร่วมมือกับ GPSC นับเป็นก้าวสำคัญที่บริษัทฯจะได้เริ่มต้นพัฒนาเรือโดยสารไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยการพัฒนาครั้งนี้จะใช้แบตเตอรี่ลิเธียมอิออน ที่ศึกษาโดย GPSC เป็นแบตเตอรี่ที่มีคุณภาพซึ่งผลิตในประเทศไทย นำมาประกอบเป็นส่วนหนึ่งในเรือไฟฟ้า รุ่น Water Limousine ของ เรือด่วนเจ้าพระยา ที่ขณะนี้อยู่ในช่วงระหว่างการออกแบบ  อย่างไรก็ตามในอนาคตบริษัทฯ มีแผนขยายผลไปสู่เรือโดยสารไฟฟ้ารุ่นอื่น ๆ ของเรือด่วนเจ้าพระยา และในกลุ่มสุภัทรา เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย 

                ด้านนางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการมุ่งมั่นลดมลภาวะทางอากาศและทางเสียงเพื่อเสริมสร้างความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับแม่น้ำเจ้าพระยาและชุมชนทางน้ำของประเทศไทย ผ่านการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้ากับผู้ที่มีประสบการณ์ในการให้บริการระบบขนส่งมวลชนทางน้ำของไทย บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยาเพื่อพัฒนาเรื่องไฟฟ้าสำหรับใช้งานเชิงพาณิชย์ในแม่น้ำเจ้าพระยาและช่องทางการสัญจรทางน้ำต่าง ๆ ในประเทศไทย

               ด้วยวิสัยทัศน์ร่วมกันนี้ จึงนำมาสู่ความร่วมมือใน “โครงการพัฒนาต้นแบบชุดแบตเตอรี่และระบบขับเคลื่อนเรือโดยสารไฟฟ้า” ระหว่าง GPSC และ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา เพื่อนำ “G-Cell” แบตเตอรี่ลิเธียมฯ ที่มีความปลอดภัยและมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาใช้งานกับเรือและบริการที่มีคุณภาพจากกลุ่มสุภัทรา เพื่อเริ่มต้นทดลองให้บริการแก่ผู้โดยสาร โดยเริ่มจากรุ่นแรก Water Limousineก่อนที่จะนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือเชิงพาณิชย์ในรุ่นต่าง ๆ ต่อไป

               ทั้งนี้ ด้วยเทคโนโลยีกระบวนการผลิตแบบ SemiSolid ของ GPSC และ 24M ที่ได้รับความไว้วางใจจาก ผู้ประกอบการระดับโลกอย่าง Volkswagen, Kyocera, AXXIVA และFreyrในการนำมาผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมฯจึงมั่นใจได้ว่าความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งMilestoneที่สำคัญในการนำนวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงานที่ผลิตโดยคนไทยเพื่อสรรสร้างนวัตกรรมส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานงานในรูปแบบใหม่เพื่อสนับสนุนนโยบายด้านพลังงานของประเทศในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทั้งในระดับอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง หน่วยงานรัฐ และเอกชน อาคาร สำนักงาน ฯลฯ ต่อไป