วช. หนุนทีดีอาร์ไอศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของอุบัติเหตุทางถนน

เวทีวิจัย

วช. หนุนทีดีอาร์ไอศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของอุบัติเหตุทางถนน  หวังผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำผลวิจัยไปใช้กำหนดนโยบายด้านความปลอดภัยทางถนนในระดับประเทศให้มีความชัดเจน  เผย 2 ปีที่ผ่านมาแม้ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจะลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ยังสามารถลดลงได้อีก หากทุกฝ่ายมีมาตรการไปในทิศทางเดียวกัน

           ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)กล่าวว่า  อุบัติเหตุทางถนนไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ผู้ประสบภัยเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดความสูญเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงให้ทุนสนับสนุนกับโครงการวิจัย “การศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของอุบัติเหตุทางถนน”  โดย ดร.สุเมธ องกิตติกุล  จากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) เพื่อวิเคราะห์มูลค่าความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนของไทย เพื่อให้หน่วยงานด้านนโยบายสามารถนำไปใช้เป็นเกณฑ์การอ้างอิงในการติดสินใจทางนโยบายและประเมินผลกระทบของมาตรการด้านความปลอดภัยทางถนน

           ดร.สุเมธ  องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์  มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า   เนื่องจากอุบัติเหตุทางถนนของไทยยังเป็นปัญหาที่มีความรุนแรง โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 20,000 รายต่อปี   ที่ผ่านมาการดำเนินงานเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยยังไม่มีประสิทธิผลและไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ได้  ซึ่งอุบัติเหตุทางถนนนั้นนอกจากจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต จิตใจ และทรัพย์สินของผู้ประสบอุบัติเหตุและครอบครัวแล้ว ยังก่อให้เกิดต้นทุนทางสังคมจากการจัดการอุบัติเหตุและปัญหาการจราจร รวมไปถึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจากการขาดแรงงานอีกด้วย

           อย่างไรก็ตาม การศึกษาที่ผ่านมาของไทยส่วนใหญ่เป็นการประเมินมูลค่าความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนด้วยวิธีทุนมนุษย์  ซึ่งยังมีข้อจำกัดในการคำนวณต้นทุนจากอุบัติเหตุทางถนนบางประเภท และยังไม่สะท้อนต้นทุนของปัจเจกบุคคลทั้งหมด หากมีการประเมินมูลค่าความสูญเสียที่ส่วนกลางให้การรับรองว่า สะท้อนสถานการณ์ของประเทศ ทั้งด้านการรวบรวมแหล่งข้อมูลและวิธีการศึกษาจะมีประโยชน์ต่อการวางแผนการดำเนินนโยบายความปลอดภัยทางถนน รวมถึงนโยบายบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งและโลจิสติกส์ได้ดียิ่งขึ้น

           จากความสำคัญของปัญหาที่กล่าวมา ทีมวิจัยจึงทำโครงการศึกษา “ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของอุบัติเหตุทางถนน”  เพื่อวิเคราะห์มูลค่าความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนของไทยให้สามารถพัฒนาไปสู่ผลลัพธ์และวิธีการที่ใช้อ้างอิงทางวิชาการของประเทศได้  เพื่อให้หน่วยงานด้านนโยบายนำไปใช้เป็นเกณฑ์การอ้างอิงในการตัดสินใจทางนโยบายต่อไป

           ทั้งนี้ โครงการวิจัยฯ มีการดำเนินการเพื่อวิเคราะห์มูลค่าความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนของไทย โดยการประเมินมูลค่าชีวิตเชิงสถิติ (Value of Statistical Life: VSL) ด้วย 2 วิธี ได้แก่ 1.วิธีทุนมนุษย์ (Human Capital Approach: HCA) ซึ่งเป็นการประเมินค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไปจริงร่วมกับต้นทุนค่าเสียโอกาสจากการขาดรายได้ในการทำงานในอนาคตของผู้ประสบอุบัติเหตุ และ 2. วิธีความพึงพอใจที่จะจ่าย (Willingness to Pay Approach: WTP) โดยประเมินจากผลรวมของความยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางถนนของประชาชนในสังคมจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างกว่า 5,000 ตัวอย่าง นอกจากนี้งานวิจัยยังได้แสดงตัวอย่างการนำมูลค่าความสูญเสียไปประเมินความคุ้มค่าของมาตรการที่มีการดำเนินการในประเทศไทยอีกด้วย

           ผู้วิจัย กล่าวว่า จากการดำเนินงานวิจัยมีผลผลิตของโครงการ 3 ด้านหลักที่จะสามารถนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในอนาคตได้คือ 1.ข้อเสนอการกำหนดเบี้ยประกันภัยรถยนต์  2. การประเมินความคุ้มค่าของโครงการลงทุนด้านความปลอดภัยทางถนนด้วยวิธีการวิเคราะห์ต้นทุนผลได้ (CBA) และ 3. แนวทางการประยุกต์วิธีการประเมินมูลค่าความสูญเสียจากเหตุทางถนนของไทยกับการกำหนดนโยบาย

            “ดังนั้น จึงคาดหวังให้หน่วยงานรัฐหรือผู้กำหนดนโยบายจะนำผลการวิเคราะห์มูลค่าความสูญเสียที่ประเมินได้จากงานวิจัยไปใช้เป็นค่าอ้างอิงในการพิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุทางถนนของไทย และกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ในการจัดสรรนโยบายด้านความปลอดภัยทางถนนในระดับประเทศให้มีความชัดเจน  ซึ่งผู้กำหนดการประเมินสามารถประเมินความคุ้มค่าในการลงทุนในโครงการด้านความปลอดภัยทางถนนได้ เพื่อให้สามารถกำหนดงบประมาณของโครงการที่ทำให้มาตรการด้านความปลอดภัยทางถนนที่ความยั่งยืนและเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง โดยผู้กำหนดนโยบายสามารถติดตามและประเมินผลของการดำเนินมาตรการต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ มีการบริหารทรัพยากรในการดำเนินนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”

           สำหรับผลการวิจัยนี้ได้มีการเผยแพร่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผลักดันเข้าสู่ (ร่าง) แผนแม่บทด้านความปลอดภัยทางถนน ฉบับที่ 5  อีกทั้งจะมีการนำเสนอในงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ ด้านความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 15  ในหัวข้อ “ทศวรรษใหม่ วิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัยต้องมาก่อน” ต่อไป

           สำหรับสถานการณ์การเสียชีวิตที่เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยในปัจจุบัน  ดร.สุเมธ  เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ 3 ฐานข้อมูลของกรมควบคุมโรคพบว่า ผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มลดลง โดยในช่วง 2 ปีหลัง (พ.ศ.2563- พ.ศ.2564) มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนรวม 34,788 คนเฉลี่ยปีละไม่ถึง 20,000 คน  ซึ่งอาจเกิดจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2 ปีผ่านมา ที่ส่งผลให้การเดินทางลดลง  อย่างไรก็ตามมองว่า จำนวนอุบัติเหตุมีแนวโน้มลดลงได้อีก หากการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านความปลอดภัยทางถนน การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการบูรณาการร่วมกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน