“เตียงพลิกตะแคงป้องกันแผลกดทับฯ พร้อมระบบควบคุมจากระยะไกล” ผลงานนักวิจัยไทย ใช้จริงแล้วในโรงพยาบาล

เวทีวิจัย

               โลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จำนวนผู้ป่วยติดเตียงและผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย  ส่งผลให้มูลค่าทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ป้องกันการเกิดแผลกดทับมีมูลค่าสูงและเติบโตต่อเนื่องทุกปี  จากข้อมูลทางการตลาดในปี 2555 วัสดุรองรับสำหรับป้องกันการเกิดแผลกดทับมีมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2562 เพิ่มขึ้นสูงถึง 4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจากรายงานขององค์การอนามัยโลกคาดว่าจำนวนผู้ป่วยสูงอายุจะเพิ่มขึ้นถึง 1.5 ล้านคนต่อปี  แสดงถึงแนวโน้มทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นเพียงแค่ 1% ของ ส่วนแบ่งทางการตลาดก็มีมูลค่ามหาศาล  

               ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน)   เห็นถึงโอกาสในการพัฒนา ระบบการแก้ปัญหาการดูแลผู้พิการและผู้ป่วยติดเตียงให้มีสุขภาวะที่ดี ด้วยนวัตกรรมเตียงพลิกตะแคง และ Doctor N Medigel พร้อม Software Smart Bed เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ  โดยมุ่งเป้าขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศ และลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ  

               โดยได้ร่วมมือกับ บริษัท เอ็นเอฟ เฮลท์แคร์ จำกัด ในการพัฒนาระบบงาน (Solution) สำหรับดูแลผู้ป่วยแบบครบวงจร โดยเพิ่มระบบ IoT และระบบกล้องมาเสริมจากระบบเตียงเดิม และได้พัฒนาระบบ Smart Bed Software ให้มีความใหม่และแตกต่างจากระบบอัตโนมัติอื่น ๆ ในท้องตลาด  ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยปี 2565 จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในแผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการดูแลผู้พิการและผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงการขยายผลการใช้งานนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์

                …ซึ่งล่าสุด บพข.  ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   ส่งมอบผลงานวิจัย  “เตียงพลิกตะแคงพร้อมเบาะ Doctor N Medigel และ Software Automate จำนวน 10 เตียง และ Central Control ” ให้แก่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี เพื่อแก้ปัญหาการดูแลผู้พิการและผู้ป่วยติดเตียงให้มีสุขภาวะที่ดี พร้อมทั้งป้องกันการเกิดแผลกดทับ นำร่องใช้งานตามแนวระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มุ่งเป้าขยายผลการส่งออกผลิตภัณฑ์นวัตกรรมไทย

               รศ.ดร. ธงชัย สุวรรณสิชณน์  ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า “นวัตกรรมดังกล่าวเป็นการต่อยอดจากผลงานเดิมที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  กระทรวง อว. ภายใต้ความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมของ  “ผศ.พญ. นลินี โกวิทวนาวงษ์” จาก ม.อ. และ รศ.ดร. ศักดิ์ระวี ระวีกุล จาก มทร.อีสาน ซึ่งได้มีการนำระบบ Software Smart Bed เพื่อเตียงพลิกตะแคง Doctor N Medigel ไปใช้งานในสถานดูแลผู้สูงอายุและโรงพยาบาลหลายแห่ง โดยเฉพาะในช่วงที่มีปัญหาการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 และได้ผลตอบรับที่ดี  

               ดังนั้น กลุ่มแผนงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม บพข. จึงได้มีการสนับสนุนต่อยอด เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของคนไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเพิ่มระบบ IoT และพัฒนาระบบอัตโนมัติในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ ลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และทำให้ราคาสามารถเข้าถึงได้ เป็นทางเลือกให้กับคนไทยและสถานบริการทางการแพทย์ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมศักยภาพของภาคเอกชน ซึ่งได้แก่ บริษัท เอ็นเอฟ เฮลท์แคร์ จำกัด และ บริษัท กรุงเทพครุภัณฑ์เวชภัณฑ์ จำกัด ให้สามารถขยายผลสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์ และมีโอกาสในการแข่งขันด้านสุขภาพและการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียนต่อไปในอนาคต”

               ดร.วิไลพร เจตนจันทร์  กรรมการบริหาร บพข. กล่าวว่า “การส่งมอบผลงานวิจัยครั้งนี้ บพข. รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่นวัตกรรมที่คิดค้นโดยคนไทย ซึ่งใช้ material base จากผลผลิตทางการเกษตรของไทย ดังนั้นงานวิจัยนี้นอกจากจะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังสามารถช่วยเพิ่มมูลค่ายางพาราไทยด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีมูลค่าสูงได้อีกด้วย ซึ่งต้องขอขอบคุณทีมวิจัย ม.อ. และ มทร.อีสาน รวมทั้งภาคเอกชน ที่ได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมนี้จนสามารถผ่านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานสากลและสามารถให้บริการกับประชาชนได้จริง

               และที่ขาดไม่ได้เลยคือ ต้องขอขอบคุณทางโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมของนักวิจัยไทย ด้วยการนำนวัตกรรมมานี้มาใช้ในโรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์นั้นเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามแนวระเบียงเศรษฐกิจที่มีชาวต่างชาติตามแนวเขตลุ่มแม่น้ำโขงมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจะช่วยสร้างการรับรู้ในการใช้เครื่องมือที่ช่วยดูแลผู้ป่วยในการป้องกันการเกิดแผลกดทับ และขยายผลให้ผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และเป็นที่รู้จักของนักลงทุนหรือตัวแทนจำหน่าย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ”

               ด้าน ผศ.พญ.นลินี โกวิทวนาวงษ์  หัวหน้าโครงการวิจัย  กล่าวถึงแนวคิดและเป้าหมายโครงการว่า  นวัตกรรมเตียงพลิกตะแคง และเบาะ Doctor N Medigel  เกิดขึ้นจากการพยายามแก้ปัญหาที่เกิดกับผู้ป่วยในเรื่องการเกิดแผลกดทับ และต้องการเพิ่มมูลค่าให้พืชเศรษฐกิจไทยคือยางพาราให้กลายเป็นเครื่องมือแพทย์  ทีมวิจัยได้มีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถผ่านการทดสอบ และทำมาตรฐานทางการแพทย์ได้ในระดับสากล

               “จากการทดลองวิจัยกับกลุ่มเป้าหมายได้รับผลตอบรับที่ดี ทำให้เห็นความสามารถในการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ลักษณะคล้ายกับที่นำเข้าจากต่างประเทศได้ ซึ่งเรามีเป้าหมายในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เพื่อขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศ จากข้อมูลที่เราได้ทำการสำรวจ  พบว่าค่ารักษาแผลกดทับของผู้ป่วย 1 ราย สูงถึง 60,000 ถึง 70,000 บาท เพราะผู้ป่วยต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน และต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ 2-4 คน ในการคอยพลิกผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นภาระที่หนักมากของบุคลากรทางแพทย์ซึ่งต้องคอยดูแลผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงพยายามคิดหาวิธีที่จะช่วยเหลือลดภาระดังกล่าว รวมถึงลดความเจ็บปวดของผู้ป่วยและช่วยให้ญาติที่ดูแลผู้ป่วยสามารถมอนิเตอร์ได้จากระยะไกล”

               สำหรับเทคโนโลยีที่ได้พัฒนาเพิ่มเติมด้วยทุนสนับสนุนจาก บพข. คือ การจัดทำระบบการดูแลและแก้ปัญหา (Solution) ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มติดเตียง ด้วยการเพิ่มระบบ Sensor Processing รวมทั้งระบบการตรวจจับด้วยกล้องมาใช้ในการประมวลผลและปรับการดูแลผู้ป่วยให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยข้อมูลจะถูกส่งไปยัง center ที่โรงพยาบาล ทำให้แพทย์สามารถมอนิเตอร์อาการของผู้ป่วยได้จากระยะไกล นอกจากนี้ยังสามารถติดตั้งแอพพลิเคชั่นไว้บนโทรศัพท์มือถือของญาติผู้ป่วย ทำให้ญาติสามารถควบคุมการพลิกตะแคงผู้ป่วยได้จากที่ทำงานอีกด้วย  

               นวัตกรรมนี้มีหน่วยงานเอกชนที่พร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยี ผลิตและจำหน่าย เข้ามาร่วมในโครงการด้วย ซึ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่สำคัญของตลาดในประเทศคือโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีการขยายตัวอยู่ตลอดเวลา และทีมนักวิจัยได้วางแผนในการรุกตลาดต่างประเทศที่มีการแข่งขันสูง จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่ต่างออกไปจากการทำตลาดในประเทศ โดยในการขยายตลาดสู่ตลาดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามแนวระเบียงเศรษฐกิจและมีชายแดนติดกับประเทศในแถบลุ่มน้ำโขงนั้นสามารถส่งออกได้ทั้งทางบกและทางเรือ

               คุณมาริต้า  รุกขพันธ์เมธี กรรมการบริหาร บริษัท กรุงเทพครุภัณฑ์เวชภัณฑ์ จำกัด เปิดเผยถึงแผนการต่อยอดนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ ว่า  เดิมบริษัททําธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตเตียงคนไข้อยู่แล้ว แต่เป็นเตียงคนไข้แบบปกติไม่มีฟังก์ชันพลิกตะแคงสําหรับแผลกดทับ   การมาร่วมทุนในครั้งนี้ช่วยให้สามารถเพิ่มเทคโนโลยีในการผลิต  พนักงานได้เรียนรู้วิธีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้สามารถผลิตและส่งออกนวัตกรรมเตียงคนไข้ที่มีมาตรฐานสากลไปต่างประเทศได้  สำหรับเตียงดังกล่าวมีราคาประมาณ 1 แสนบาท  ถูกกว่าเตียงที่นำเข้าจากยุโรปซึ่งมีราคาประมาณเตียงละ 3-4 แสนบาท ถือว่าบริษัทเป็นเจ้าแรก ๆ ในเอเชีย ที่สามารถผลิตเตียงที่มีฟังก์ชันพลิกตะแคงสำหรับดูแลผู้ป่วยแผลกดทับที่ได้มาตรฐานสากล

               ด้านนายแพทย์มนต์ชัย วิวัฒนาสิทธิพงศ์ ผู้อำนวยโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ กล่าวว่า “ในหนึ่งวันโรงพยาบาลมีคนไข้ที่เข้ามารับการรักษาจำนวนว่า 3,000 ถึง 4,000 คน และในจำนวนนี้มีผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วย ICU อีกประมาณ 30 – 40 คน ซึ่งการดูแลผู้ป่วยติดเตียง 1 คนต้องใช้บุคลากรประมาณ 3-4 คนในการช่วยพลิกตัวผู้ป่วย และต้องทำทุก ๆ 2 ชม. ซึ่งเป็นภาระที่หนักมากของบุคลากรในโรงพยาบาลรวมถึงผู้ดูแลผู้ป่วย ดังนั้นในสภาพความเป็นจริงเราจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีมาช่วยเพื่อลดแรงกดทับซึ่งจะก่อให้เกิดเป็นแผลกดทับตามมา รวมถึงลดขั้นตอนการทำงาน และแบ่งเบาภาระของบุคลากรโรงพยาบาลที่ต้องแลผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก และสิ่งที่ทีมนักวิจัยได้พัฒนานั้น ได้ผ่านการดําเนินการที่เป็นขั้นเป็นตอนจนกระทั่งได้ต้นแบบที่เหมาะสมที่สุด ที่จะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี”

               ความสำเร็จของการพัฒนาระบบและผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลผู้พิการและผู้ป่วยติดเตียงของนักวิจัยไทยครั้งนี้ จึงนับเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ของไทยให้มีมาตรฐานระดับสากล สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมทางการแพทย์ของไทยได้อย่างยั่งยืนตามเป้าหมายของ บพข.