มช.ใช้เทคโนโลยีปรากฏการณ์แสงต่อยอดองค์เจดีย์หลวง ปลุกชีวิตมรดกทางวัฒนธรรม

เวทีวิจัย

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โชว์ผลงานนิทรรศการ “ต่อยอด แสงหลวง” ปลุกโบราณสถานให้ตื่นด้วยการต่อยอดองค์เจดีย์หลวง ด้วยเทคโนโลยีปรากฏการณ์แสง สร้างมุมมองใหม่ที่สมบูรณ์ให้กับโบราณสถาน  

             เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2565  ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้านการบริหารนวัตกรรม วิเทศสัมพันธ์ และสื่อสารองค์กร เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในส่วนภูมิภาค ที่จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐ และเจตนารมณ์ของประชาชนในภาคเหนือ ให้เป็นศูนย์กลางทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติโดยส่วนรวม โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เป็นแหล่งสะสม ค้นคว้า วิจัย และถ่ายทอดความรู้ ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยหนึ่งในพันธกิจที่สำคัญ คือ การมุ่งสืบสานวัฒนธรรมล้านนา-ไทยและบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อการสืบสานพัฒนาล้านนาอย่างสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน เพื่อที่เชียงใหม่และภาคเหนือเป็นแหล่งท่องเที่ยว และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจ สร้างอาชีพให้แก่ประชาชนได้ในอนาคต

             “เชียงใหม่ ถือเป็นเมืองที่มีความผสมผสานอารยธรรมความล้านนา และความทันสมัยอย่างลงตัว ดังนั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) วิทยาลัยสื่อ ศิลปะ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จึงร่วมกันจัดงาน KHUM Awaken Innovation Creative Economy โครงการส่งเสริมและพัฒนาการขยายผลธุรกิจนวัตกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้น เพื่อตอบสนองต่อพันธกิจมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่จะสืบสานวัฒนธรรมล้านนา เป็นแหล่งสะสมองค์ความรู้ เผยแพร่ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  โดยผลงานตระการตา “ต่อยอด แสงหลวง” เป็น 1 ใน 3 นิทรรศการแสดงผลงานของการจัดงานครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ กล่าว

             ด้าน ศ.ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า พระธาตุเจดีย์หลวง ตั้งอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงวรมหาวิหาร อำเภอเมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ในสมัยพญาแสนเมืองมา ถือเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในภาคเหนือ โดยจากการศึกษาเทียบเคียงหลักฐาน ตํานาน และข้อสันนิษฐานต่าง ๆ คาดว่า เดิมมีความสูงประมาณ 70 เมตร ฐานเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณด้านละ 60 เมตร แต่เมื่อ 477 ปีที่แล้ว ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ทำให้ส่วนยอดของเจดีย์หัก เหลือความสูงเพียง 40 เมตร ดั่งที่เห็นในปัจจุบัน และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทดลองนวัตกรรมสถาปัตยกรรม ที่มุ่งเน้นการต่อยอดภูมิปัญญาด้วยนวัตกรรมเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ชุมชน 

             “แนวคิดมาจากคําถามสำคัญว่า เราจะสามารถปลุกโบราณสถาน ให้ตื่นและมีชีพจรในจังหวะเดียวกับสังคมร่วมสมัยได้อย่างไร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมีการค้นหาวิธีการสร้างประสบการณ์ใหม่ที่เร้าความรู้สึกด้วยปรากฏการณ์แสง และเป็นที่มาของผลงาน ตระการตา “ต่อยอด แสงหลวง” ที่ถือเป็นปรากฏการณ์ที่สามารถกระตุ้นให้ผู้คน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้เกิดความสนใจ และเริ่มหันมาสร้างบทสนทนาด้วยภาษาใหม่กับโบราณสถาน และงานชิ้นนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การเลือกใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สร้างสรรค์อาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถที่ช่วยปลุกชีวิตให้มรดกทางวัฒนธรรมอื่นๆ สามารถเดินไปพร้อมกับจังหวะของโลกร่วมสมัยได้” ดร.ระวิวรรณ กล่าว

             ด้าน ผศ.ดร.บุรินทร์ ธราวิจิตรกุล หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมล้านนาสร้างสรรค์ (CLIC) กล่าวว่า สำหรับเทคนิคที่ใช้ เป็นการฉายแสงเลเซอร์เติมไปในบริเวณส่วนยอดขององค์เจดีย์หลวงที่หายไป โดยเป็นการใช้ปรากฏการณ์แสงเติม รูปทรงและสัดส่วนความสูงให้กับองค์เจดีย์หลวง ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า “Projection” หรือ “ภาพฉาย” สร้างอุโมงค์แสงเสมือน (Space) ซ้อนทับลงไปกับองค์เจดีย์ ทำให้เกิดเป็นเส้นรอบรูปไปที่องค์เจดีย์ เพื่อแสดงสัดส่วนและความสูงของเจดีย์ที่สมบูรณ์ ส่งผลทำให้ชาวเชียงใหม่รวมถึงนักท่องเที่ยว ได้มีโอกาสได้ย้อนไปสัมผัสความสง่างามขององค์เจดีย์หลวงในอดีต หลังจากที่ไม่มีใครเคยเห็นมาเกือบ 500 ปี นับเป็นการแสดงผลงานที่ประชาชนและนักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดที่จะได้มาเยี่ยมชม โดยกำหนดจัดแสดงอย่างต่อเนื่องทุกวันอาทิตย์  เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม และไปสิ้นสุดในวันที่ 25 กันยายน 2565 ในช่วงเวลา 20.00- 22.00 น. ณ วัดเจดีย์หลวงวรมหาวิหาร

             สำหรับนิทรรศการแสดงผลงานอีก 2ส่วนสำคัญ ได้แก่ KHUM X NIA Innovative Showcase (SHOW CASE X SHOW KHUM) งานแสดงสินค้าธุรกิจนวัตกรรมสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการ ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมดั้งเดิมและอัตลักษณ์ของเชียงใหม่มาผลิตเป็นผลงานที่มีความร่วมสมัย สามารถปรับใช้ได้จริงกับชีวิตปัจจุบัน โดยงานแสดงจะจัดต่อเนื่องทุกวันอาทิตย์ จนถึงวันที่ 25 กันยายน 2565 เวลา 17.30-21.30 น. ณ ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) และนิทรรศการ “สถาปัตยกรรมสมัยใหม่เมืองเชียงใหม่: ภาพสะท้อนความทันสมัย Chiang Mai Modern Architecture: the Reflection of Modernity” โดย รศ.ดร.สันต์ สุวัจฉราภินันท์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มช. และ “Modernized Bangkok” โดย foto-momo 2 นิทรรศการที่ถ่ายทอดภาพของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในเชียงใหม่และกรุงเทพฯ ที่เป็นนวัตกรรมทางสังคม ที่สะท้อนวิธีคิด ชีวิต และความเป็นอยู่ของผู้คนของยุคสมัยหนึ่ง จัดแสดงจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ทุกวัน เวลา 8:30 – 16:30 น. (ปิดวันจันทร์) ณ ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)