“ EIS เซนเซอร์ตรวจสารปนเปื้อนเครื่องดื่ม”

Inno Market

                 ยุคโควิดภิวัฒน์ทุกสรรพสิ่งล้วนอยู่บนพื้นฐานของการระมัดระวัง อันเนื่องมาจากการที่ผู้บริโภคยุคใหม่คำถึงความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเดินทาง การใช้ชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งเรื่องของสาธารณูปโภค ที่ถือเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ของการดำรงชีวิตของผู้คนในยุคนี้

                  และรู้หรือไม่… เครื่องดื่มที่เราซื้อกันอยู่ทุกวันนี้ ต้องผ่านการทดสอบสารปนเปื้อนในแล็บที่กินเวลานานหลายชั่วโมง ซึ่งเสียทั้งเวลา และกระบวนการทำงาน ดังนั้นจากปัญหาที่ภาคการผลิตต้องเจออยู่ทุกวันนี้  ดังนั้น บริษัท อาร์ทิฟิเชี่ยล เอนีทิงก์ จำกัด (Artificial Anything) สตาร์ทอัพสัญชาติไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และปัญญาประดิษฐ์ (AI) จึงได้มีการพัฒนา “เครื่องมือตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแบบพกพาด้วยเทคนิคที่คิดค้นขึ้นใหม่คือเทคนิค EIS (Electromagnetic Image Spectroscopic)”

                 โดยเทคนิคดังกล่าวจะมีหลักการคือ การประมวลผลและ Mapping Pattern จากสัญญาณสะท้อนกลับจากการส่งสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหลายช่วงความถี่ไปยังวัตถุทดสอบ จากนั้นนำมาประมวลผลเทียบกับ Pattern อ้างอิงด้วยการคำนวณจากระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อตรวจสอบเปรียบเทียบคุณสมบัติของวัสดุที่ทดสอบ หรือที่เรียกกันง่ายๆว่า “เซ็นเซอร์ตรวจสอบคุณภาพในการผลิตเครื่องดื่ม”  ซึ่งสามารถร่นระยะเวลาการตรวจสอบคุณภาพเครื่องดื่มให้เหลือแค่ 10 วินาที โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตร

                 การทำงานของระบบทั้งหมดสามารถทำงานร่วมกับระบบ Cloud ที่เป็นฐานข้อมูลของวัสดุอ้างอิงในรูปแบบของ Library คุณสมบัติของวัสดุ ผ่านอุปกรณ์ชุดเซนเซอร์อัจฉริยะ EIS แบบ IoT โดยสามารถเพิ่มขนาดของฐานข้อมูลและสามารถสร้างโมเดลทางธุรกิจได้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะต้องมีลักษณะของข้อมูลที่ตรงกันมากกว่า 96 % จึงจะผ่านมาตรฐานการผลิต และยิ่งเราทดสอบผ่านระบบมากเท่าไหร่ฐานข้อมูลก็จะได้รับการอ้างอิงมากขึ้นเท่านั้น เช่น การสร้างรายได้แบบ Subscription model และข้อมูลที่วัดสามารถจัดเก็บเพื่อรองรับการทำ Big Data เพื่อพัฒนาไปสู่ Industrial 4.0 ได้

                 ส่วน Use case ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการประยุกต์ใช้ EIS ในการสกัดวัตถุดิบในโรงงานผลิตเครื่องดื่ม เนื่องจากลูกค้าต้องการวิธีแก้ปัญหาเพื่อชี้แจงน้ำมะพร้าวที่ปนเปื้อนในพื้นที่โรงงานแห่งหนึ่ง ซึ่งสามารถทดสอบได้ทันเวลาก่อนที่จะดำเนินการผลิตให้เสร็จสมบูรณ์ เพราะบางครั้งผลิตภัณฑ์มักจะมีสารปนเปื้อนเช่นน้ำและน้ำตาล ดังนั้นก่อนที่จะทำการส่งวัตถุดิบไปยังโรงงาน จึงต้องมีการตรวจสอบเพราะไม่เช่นนั้นจะส่งผลต่อการทำงานและอาจเกิดผลเสียต่อมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในการส่งออกสินค้า

                 ปัจจุบัน Artificial Anything  อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถนำไปใช้ตรวจสอบคุณภาพเครื่องดื่มได้หลากหลายประเภทมากขึ้น โดยจะเริ่มต้นทำตลาดเครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม่พร้อมดื่ม 100% ก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งปัจจุบันแผนธุรกิจของเจ้าเครื่องอัจฉริยะนี้จะเป็นในรูปแบบลิสซิ่ง หรือเช่าใช้โดยจะมีราคาแตกต่างกันออกไปตามลักษณะการใช้งาน และจำนวนในการเช่าบริการ ซึ่งผลตอบรับหลังจากนวัตกรรมตัวนี้ได้ถูกนำมาทดสอบตลาดพบว่า ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มทั้งไทยและต่างชาติ

                 จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงถูกนำมาใช้เป็นทางออกหรือทางรอดของทุกปัญหา เพราะสามารถสร้างความปลอดภัย และตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างตรงจุด แต่ทว่านวัตกรรมเหล่านี้จะยังสามารถนำไปต่อยอดสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทุกคนในสังคมได้อย่างยั่งยืนต่อไปไหม และอายุการใช้งานจะยาวนานเพียงใด นั่นจึงเป็นสิ่งที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป…..