อนุรักษ์ศาสนสถานด้วยสารเคลือบนาโนซิลิกา

ออนไซต์-ในสนาม

                 เก็บตก…โครงการดี ๆ ที่มีการนำเทคโนโลยีไปต่อยอดใช้ประโยชน์ให้กับสังคม

                 กับโครงการ “เทคโนโลยีสารเคลือบนาโนเพื่อการอนุรักษ์อาคารศาสนสถาน” ผลงานจากทีมวิจัยนาโนเทคหรือศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)ที่มีดร.พิศิษฐ์ คำหน่อแก้ว เป็นหัวหน้าโครงการ  ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีการเคลือบระดับนาโนไปเคลือบพื้นผิวอาคารศาสนสถาน เพื่อช่วยลดการเกิดคราบสกปรก ตะไคร่น้ำ และเชื้อรา เพิ่มความคงทนในการดูแลรักษา  

                 เคลือบไปแล้วกว่า 7 แห่ง รวมถึงที่บริเวณหอระฆัง วัดปากน้ำ (สมุทรคงคาราม) จังหวัดระยอง  ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้ทะเล และมีความชื้นสูง  

ดร.ภาวดี  อังค์วัฒนะ

                 “ดร.ภาวดี  อังค์วัฒนะ”  รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทค-สวทช. บอกว่า โครงการนี้    เป็นการใช้องค์ความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยี ซึ่งทำให้วัสดุขนาดจิ๋วแสดงคุณสมบัติพิเศษเลียนแบบธรรมชาติ สามารถนำไปเคลือบสิ่งของหรือพื้นผิวอาคารสถานที่ได้หลากหลาย  ทำให้สะดวกในการดูแลรักษา ไม่ต้องทำความสะอาด เวลาเจอน้ำฝน ฝุ่นละอองต่าง ๆ ก็สามารถทำความสะอาดตัวเองได้

                  ด้าน “ดร.ธันยกร   เมืองนาโพธิ์” นักวิจัยทีมวิจัยนวัตกรรมเคลือบนาโน  กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน  นาโนเทค  บอกถึงที่มาของโครงการนี้ว่าเกิดจากการลงพื้นที่สำรวจ  พบว่าในสถานที่ท่องเที่ยวหรือวัดต่าง ๆ มักจะมีปัญหาเรื่องของความชื้อ น้ำซึมเข้าไปในวัสดุที่เป็นพื้นผิวทำให้เกิดเชื้อราหรือตะไคร่น้ำได้ง่าย  ทีมวิจัยจึงศึกษาคุณสมบัติของวัสดุเชิงเคมี กายภาพ ของอาคารศาสนสถานจากหลายแหล่งที่มา เพื่อการพัฒนาสารเคลือบผิวอนุภาคนาโนซิลิกาที่มีคุณสมบัติ กันฝุ่น กันการซึมน้ำ ป้องกันรา ตะไคร่น้ำ คราบสกปรกที่เกาะอยู่บนพื้นผิวของวัสดุที่ใช้บูรณะอาคารศาสนสถาน รวมไปถึงช่วยลดการแตกร้าว ทำให้สามารถยืดอายุพื้นผิวและคงความสวยงามของอาคารศาสนสถานได้ดียิ่งขึ้น  

ดร.ธันยกร   เมืองนาโพธิ์

                 โดยจุดเด่นของสารนี้ คือใช้ได้กับทุกสภาพพื้นผิว โดยไม่ทำลายรูปสภาพเดิม เพียงแต่มีลักษณะพิเศษเพิ่มขึ้นมา คือ กันความชื้น ซึ่งเป็นการเลียนแบบธรรมชาติเหมือนกับใบบัว  ที่มีคุณสมบัติสะท้อนน้ำ สามารถทนฝน ทนแดด ทนรังสียูวีได้โดยไม่เสื่อมสภาพ

                  ทั้งนี้ได้มีการทดสอบภาคสนามสำหรับการใช้สารเคลือบต้นแบบเพื่อเคลือบพื้นผิวในอาคารศาสนสถานต่าง ๆ รวมถึงที่หอระฆัง   วัดปากน้ำแห่งนี้  ซึ่งได้ดำเนินเคลือบพื้นผิวไปเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2562 ที่ผ่านมา    

                 “เรานำสารเคลือบนาโนที่พัฒนาขึ้นไปทดสอบแก้ปัญหาการเกิดเชื้อราในหอระฆังของวัด ฯ ที่มีปัญหาเชื้อรา และตะไคร่น้ำ ด้วยปริมาณความชื้นจากสถานที่ตั้งที่อยู่ใกล้ทะเล รวมการแตกลายงาจากอายุของสถานที่ที่ทำให้ต้นทุนการบำรุงรักษาอาคารสถานที่สูงไปด้วย หลังจากที่ทีมวิจัยนาโนเทคนำสารเคลือบผิวนาโนที่พัฒนาขึ้นไปฉีดพ่นรอบหอระฆัง และมีการติดตามผลหลังการฉีดพ่นเป็นระยะเวลา 10 เดือน พบว่า สามารถยืดระยะเวลาการเกิดเชื้อรา คราบสกปรก และการแตกลายงา โดยในระยะเวลา 10 เดือนนี้ ไม่มีเชื้อราหรือคราบตะไคร่น้ำเกิดขึ้นเลย ซึ่งการยืดระยะเวลาในการเกิดเชื้อรานี้ ทำให้สามารถนำผลิตภัณฑ์นี้ไปต่อยอดใช้ในการบำรุงรักษาอาคารศาสนสถาน เพิ่มความคงทน ยืดอายุวัสดุที่จะนำไปซ่อมแซมบูรณะ และยังช่วยลดต้นทุนการดูแลรักษา รวมถึงเกิดความสวยงามให้กับอาคารศาสนสถานต่างๆ อีกด้วย”

                 นักวิจัยบอกอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบวิธีการทดสอบการเคลือบผิวอาคารและประเมินประสิทธิภาพของสารเคลือบ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการต่อยอดงานวิจัยไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีการเคลือบผิวที่เหมาะสมกับเนื้อวัสดุของสิ่งปลูกสร้าง  เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพหรือความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของอาคารศาสนสถานหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นๆ ด้วย

                 ทีมวิจัยตั้งเป้าทดสอบประสิทธิภาพและความคงทนของสารเคลือบนาโนนี้ให้ได้ 10 วัดภายในปี 2563  เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของสารเคลือบในพื้นผิวต่างๆ สภาพแวดล้อม สภาพอากาศที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่

                  นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดเทคโนโลยีดังกล่าวในเชิงธุรกิจ  เช่น ใช้ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจสี รวมถึงธุรกิจก่อสร้าง  ซึ่งเริ่มมีผู้สนใจติดต่อเข้ามาแล้วอีกด้วย.