3 กระทรวงฯ ผนึกกำลังพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์สมัยใหม่

News Update

 กระทรวงอุตสาหกรรมจับมือกระทรวงอว.และกระทรวงศึกษา พัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์สมัยใหม่ ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม

          เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านม กระทรวงอุตสาหกรรม จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 2 ฉบับ โดยมี นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุเทพ  แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ และศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการสร้างและพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ระหว่าง กระทรวง อว. โดย ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

          นายกอบชัย  สังสิทธิสวัสดิ์  ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า  เนื่องจากนโยบายด้านการขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล  ยานยนต์ไฟฟ้า เป็น 1 อุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ และสอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยให้เป็นเมืองสะอาด ตลอดจนนำพาประเทศสู่โลกยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการกำหนดเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ปี 2573 จำนวนร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด   ซึ่งเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นต้องพึ่งพาแรงงาน และบุคลากรที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 กระทรวงใหญ่ในการร่วมกันผลักดันให้เกิดการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

          ทั้งนี้เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ทักษะฝีมือและวิชาการขั้นสูง การกำหนด กรอบคุณวุฒิวิชาชีพ หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน เพื่อสร้างกำลังคนทักษะฝีมือและวิชาการขั้นสูง    ที่สอดคล้องกับการพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทางวิชาการให้แก่ ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มพูนทักษะให้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการหรือกิจการที่จะเข้ามาลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ รวมทั้งสร้างแพลตฟอร์ม (Platform) กลาง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานภาคการศึกษา เพื่อเป็นข้อมูลกลางด้านจำนวนกำลังคนและช่องว่างทางทักษะ (Skills Gap) ของกำลังคนในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

          นายสุเทพ แก่งสันเทียะ  เลขาธิการ สอศ. กล่าวว่า สอศ. เป็นหน่วยงานหลักในการผลิตแรงงานเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม    โดยปัจจุบัน สอศ. มีการทำความร่วมมือทวิภาคร่วมกับบริษัทผลิตแบตเตอรี่รถยนต์หลายบริษัท ซึ่งอยู่ในโครงการ EC โดยได้ร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทราในสังกัดของ สอศ. ดำเนินโครงการ EC ในด้านยานยนต์ ดังนั้นทางอาชีวศึกษามีความพร้อมในการผลิตนักศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ผลิต อย่างไรก็ตามการผลิตนักศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการนั้นยังคงต้องคำนึงถึงโอกาสในการประกอบอาชีพหลังสำเร็จการศึกษา ว่าจะสามารถรองรับจำนวนนักศึกษาจบใหม่ได้ครบถ้วนหรือไม่

                ด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนภาคเอกชนให้เข้ามาทำวิจัยและพัฒนาร่วมกับนักวิจัย นักวิชาการ  อว.มีอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยที่รังสิต อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคที่สงขลา เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา และเครือข่ายรวม 44 แห่ง ทั่วประเทศ จะสามารถช่วยในการสนับสนุนข้อมูล การใช้ห้องปฏิบัติการเครื่องมืออุปกรณ์ โรงงานต้นแบบ ให้กับผู้ประกอบการที่เป็นเครือข่ายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาต่อยอดให้ธุรกิจอุตสาหกรรมมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น  

          “การสนับสนุนดังกล่าว จะสามารถลดต้นทุน พร้อมทั้งยกระดับประสิทธิภาพการผลิตด้วยความช่วยเหลือของนักวิจัยระดับชาติ ส่งต่องานวิจัยจากหิ้งสู่ห้างได้สำเร็จ โดยผ่านกระบวนการเชื่อมโยงกับหน่วยงานในระดับจังหวัด ในการขยายผลขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืนต่อไป ไม่เพียงแต่ความพร้อมในการสนับสนุนข้อมูลและการใช้ห้องปฏิบัติการเครื่องมืออุปกรณ์เท่านั้น ยังมีความพร้อมให้ความร่วมมือในการสนับสนุนกิจกรรมทางวิชาการระหว่างอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาและบุคลากรจากสถานประกอบการ เพื่อเพิ่มพูนทักษะและพัฒนาองค์ความรู้และงานวิจัย รวมทั้งการผลิตกำลังคนให้เป็นบัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่มีทักษะ ความสามารถในด้านการคิดวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา การพัฒนาและมีสมรรถนะความเชี่ยวชาญที่เป็นสากล ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบการ เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีการกำหนดข้อมูลความต้องการด้านทักษะ สมรรถนะของกำลังคนในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่จากกระทรวงอุตสาหกรรมและสถานประกอบการ  สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ยินดีให้ความร่วมมือและพร้อมที่จะปรับกระบวนการจัดการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาคนให้มีทักษะ สมรรถนะที่ตอบโจทย์ของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตในอนาคต”