“เอนก เหล่าธรรมทัศน์” เปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566”

News Update

  “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” ชี้การหาพันธมิตรต่างประเทศที่มีศักยภาพและเข้มแข็งในการนำงานวิจัยสร้างเศรษฐกิจถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ   

              เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 ที่ห้องเวิลด์บอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์  ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023)” พร้อมเป็นประธานในพิธีมอบโล่และประกาศนียบัตร:คณะกรรมการจริยธรรมวิจัยในมนุษย์ระดับชาติ (NECAST) พิธีมอบใบรับรองห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับริงมาตรฐานฯ (มอก.2677 – 2558) และพิธีมอบประกาศนียบัตรหน่วยงานที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสากล Core TrustSeal ในการจัดข้อมูลในคลังสารสนเทศดิจิทัล

              ทั้งนี้ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก  ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ว่า  การพัฒนาประเทศด้วยวิจัยและนวัตกรรม สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ การหาพันธมิตรจากต่างประเทศที่มีศักยภาพและมีความเข้มแข็งในการนำงานวิจัยและนวัตกรรมผนึกเข้ากับการสร้างเศรษฐกิจ จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ส่งผลให้ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่ปลาเร็วกินปลาช้า หากเราจะทำการวิจัยพัฒนาเราต้องทำด้วยความรวดเร็วและมีความมุ่งมั่นสูง เอาความแกร่งกล้าของไทยไปทำงานกับนานาประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย  อาชีพนักวิจัยเป็นอาชีพที่ใช้สติปัญญา ได้ใช้สมองตลอดเวลา ความรู้ สติปัญญา เป็นสิ่งที่ยิ่งใช้ยิ่งมีมากขึ้น ยิ่งให้ยิ่งเติบโต  คนไทยเป็นนักวิจัยที่เก่ง  อยากให้คนไทยทั้งประเทศ มีวิธีการคิดแบบนักวิจัย และสามารถนำคำว่า “งานวิจัย” มาใช้เป็นคำสามัญประจำบ้าน ที่ใช้ได้กับสิ่งรอบๆตัว   

              “อยากให้มองว่าการวิจัยเป็นเรื่องของโอกาส ไม่ใช่ปัญหา มองทุกสิ่งเป็นการเรียนรู้  ซึ่งงานวิจัยและนวัตกรรมไม่ได้สำคัญเฉพาะหน่วยงานการศึกษา หรือวิจัยเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ  ซึ่งจำเป็นต้องมีการรวมกำลังและรวมความคิด  และใช้ความสามารถจากคนไทยเก่ง ๆ มาร่วมกันพัฒนา”

              ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยกาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. และหน่วยงานเครือข่าย ร่วมกันจัดงานมหกรรมงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้เป็นปีที่ 18 นับเป็นกำลังความร่วมมือของการสร้างสรรค์งานวิจัยที่อยู่ภายใต้ความร่วมมือที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง การจัดงานในปีนี้มีเป้าหมายหลักในการนำความก้าวหน้าของผลงานวิจัย วิทยาการ นวัตกรรม เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศในมิติด้านต่าง ๆ ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนงานวิจัย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างไทยยั่งยืน” การจัดงานครั้งนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากหน่วยงานเครือข่ายวิจัยทั่วประเทศในการร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ด้วยความตั้งใจที่จะส่งต่องานวิจัย นวัตกรรม ที่เกิดขึ้นจากความสามารถของนักวิจัยไทยไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อไป

              สำหรับงานในปีนี้ มีผลงานวิจัยมาร่วมจัดแสดงกว่า 1,000  ผลงาน แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ งานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG อาทิ นวัตกรรมอาหารฟังก์ชั่นมูลค่าสูง ซุปกึ่งสำเร็จรูปรสไทยตำรับผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ไข่ต้มพืชสะดวกเก็บสะดวกกินพลัส มหาวิทยาลัยรังสิต การบริหารพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราชอย่างยั่งยืนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย งานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจมูลค่าสูงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การพัฒนาเชื้อเพลิงเคมีชีวภาพจากตะกอนน้ำเสียที่ผ่านกระบวนการบำบัดแบบไม่ใช้อากาศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ระบบลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานกุญแจสาธารณะผสม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ

              งานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาทิ โครงการ ฟื้นฟู และต่อยอดผ้าลายอย่างเอกลักษณ์อยุธยา “จุฬาพัสตร์”สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา การพัฒนาข้อมูลดิจิทัล 3 มิติ เพื่อการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานและการรักษามรดกทางวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี งานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อยกระดับสังคมอย่างยั่งยืน อาทิ แพลตฟอร์มเพื่อการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลง ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ   สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) อุปกรณ์ตรวจวัดการยึดของเอ็นรอบข้อ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

              ​งานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อาทิ ANSEE KHAO YAI นวัตกรรมเพื่อสร้างการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  การปนเปื้อนและการบำบัดไมโครพลาสติกในระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม  และ งานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพชุมชน อาทิ การใช้ประโยชน์จากโปรตีนจิ้งหรีดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ฟังก์ชันนอลฟู้ด สูตรโปรตีนสูง ไขมันต่ำ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เถาว์จันท์-3 วัฒนธรรม สู่การสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก โคมไฟเซราสาน มหาวิทยาลัยบูรพา ฯลฯ

                นอกจากนี้ ภายในงานยังประกอบด้วย นิทรรศการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยไทย” และ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ์ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 10 และ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

                นิทรรศการวิจัยสร้างสีสัน ในรูปแบบของ Research Festival นิทรรศการ Research Utilization ศาสตร์ ศิลป์งานวิจัย นิทรรศการเครือข่ายวิจัยภูมิภาค  นิทรรศการวิจัยขายได้ นิทรรศการผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา นิทรรศการวิจัยหนุนเศรษฐกิจชุมชน (Power RI for Community Economy) นิทรรศการ Research Utilization รวมผลงานวิจัยจำนวนมากกว่า 700 ผลงาน รวมถึงการจัดประชุมที่มีหัวข้อการประชุมมากกว่า 100 หัวข้อเรื่อง หลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ และกิจกรรม อื่นๆ ซึ่งส่งเสริมศักยภาพบุคลากรการวิจัย อาทิ กิจกรรมประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา กิจกรรมนำเสนอบทความผลงานวิจัย Thailand Research Expo & Symposium 2023 และกิจกรรมยกย่องเชิดชูเกียรตินักวิจัย  

              ผู้สนใจเข้าร่วมงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023)” สามารถเข้าร่วมได้ระหว่างวันที่ 7 – 11 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ โดยลงทะเบียนเข้าร่วมงานผ่านทางเว็บไซต์  https://www.researchexporegis.com  และลงทะเบียนเข้าร่วมเยี่ยมชมงานแบบหมู่คณะผ่านทาง QR Code ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2566 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย