เส้นทาง “CDIP” จากสตาร์ทอัพรับจ้างวิจัยสู่ Contact Research Organization

Cover Story

                ปฎิเสธไม่ได้ว่า…การวิจัยและพัฒนาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

                แต่การจะเข้าถึงการวิจัยและพัฒนา สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย ไม่ใช่เรื่องง่าย.. โดยเฉพาะในอดีตเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา  ที่งานวิจัยและพัฒนาส่วนใหญ่ยังอยู่ในสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยของประเทศ ขาดการเชื่อมต่อและผลักดันไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์

                “งานวิจัยอยู่บนหิ้ง” จึงเป็นคำกล่าวที่มักจะได้ยินอยู่เสมอ ๆ จนกระทั่งหลายภาคส่วนต่างช่วยกันในการขับเคลื่อน  “งานวิจัยให้ลงจากหิ้งสู่ห้าง”

                และนั่นก็คือโอกาส และ เป็นจุดกำเนิดของ “บริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)” หรือ  “ CDIP ”  ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2553   โดยกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ สายเลือดนักวิจัย  และมีบริษัทโรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)   หรือ  JSP  ถือหุ้น   65 % เพื่อปิดช่องว่างในการเชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่การใช้งานจริง

                 “ ดร.สิทธิชัย แดงประเสริฐ”   ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)   หรือ JSP    กล่าวว่า  CDIP เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่จะผลักดันให้ JSP กลายเป็นผู้ให้บริการด้านสุขภาพอย่างครบวงจร  เพราะธุรกิจด้านการวิจัยและพัฒนา และการต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ ถือเป็นหัวใจของการต่อยอดสู่การผลิตยา เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับคนและสัตว์

                 และธุรกิจของ CDIP นั้นไม่ได้สำคัญเฉพาะกับ JSP เท่านั้นแต่เป็นฟันเฟืองที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเพื่อก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ผ่านผู้ประกอบการรายย่อย และวิสาหกิจชุมชน เนื่องจากปัจจุบันสินค้าด้านสุขภาพของไทยมีจำนวนไม่น้อยที่มีคุณภาพสูงแต่ไม่สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ เนื่องจากไม่มีงานวิจัยรองรับ โดยอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงงานวิจัยได้ มาจากค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ธุรกิจของ CDIP จึงเป็นการเปิดกว้างให้ SME และผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงการทำวิจัยและยกระดับสินค้าให้สามารถตีตลาดต่างประเทศได้กว้างขึ้น การก้าวข้ามข้อจำกัดนี้จะส่งผลให้ประเทศไทยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

                ปัจจุบัน  CDIP ให้บริการทั้งรับจ้างวิจัยเชิงวิชาการในห้องปฏิบัติการ โดยสามารถเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญในเครือข่ายวิจัยเพื่อตอบโจทย์ของลูกค้าได้อย่างหลากหลาย  มีบริการรับจ้างทดสอบและวิเคราะห์ผลทางวิทยาศาสตร์  ผลักดันให้เกิดการนำงานวิจัยลงจากหิ้ง โดยเชื่อมโยงนักวิจัยกับผู้ผลิตหรือเจ้าของแบรนด์เข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่

                “หลังเปิดบริการมา10 ปี ให้บริการด้านการวิจัยและพัฒนาไปแล้วกว่า 200 โครงการ เฉลี่ยปีละกว่า 20 โครงการ  โดยค่าให้บริการมีตั้งแต่ 3000 บาท จนถึง 2 ล้านบาท   นอกจากนี้เมื่อทำงานวิจัยจำนวนมาก จึงเกิดองค์ความรู้  CDIP จึงขยายจากการรับจ้างวิจัยไปสู่งานฝึกอบรมและสัมมนา รวมถึงงานให้คำปรึกษาการยื่นขอทุนวิจัยด้านการวิจัยและพัฒนาจากหน่วยงานต่าง ๆ”

                เส้นทางการดำเนินธุรกิจไม่ได้หยุดแค่นั้น …

                ดร.สิทธิชัย บอกอีกว่า CDIP ยังให้บริการด้านการผลิตสินค้า โดยหาโรงงานรับจ้างผลิตที่เหมาะสมกับลูกค้าและควบคุมการผลิตให้กับลูกค้า  นอกจากนี้ยังมีการทำเทรดดิ้งให้กับลูกค้า  เช่น การนำสารสกัดของลูกค้าไปขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรม  และยังทำด้านช่องทางจำหน่าย โดย  CDIP  ได้เข้าไป M&A  กับผู้พัฒนา “ตู้จำหน่ายยาอัตโนมัติเมดิส”  ซึ่งปัจจุบันมีการติดตั้งให้บริการในกรุงเทพฯ รวม 44 ตู้  และในปี 2567  ตั้งเป้าขยายเป็น  200 ตู้ ในกรุงเทพ ปริมณฑลและจังหวัดต้นแบบ

                สำหรับ ตู้จำหน่ายยาอัตโนมัติเมดิส จะเป็นตู้ที่ขายยาสามัญประจำบ้าน และผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ชุดตรวจโควิด และครีม เครื่องสำอางต่าง ๆ   เจาะกลุ่มโครงการที่อยู่อาศัย ทั้ง คอนโด อาพาร์ทเมนท์ หอพัก แหล่งชุมชน และโรงงานอุตสาหกรรม เน้นความสะดวก สามารถเข้าถึงยาสามัญประจำบ้านได้ทุกเวลา โดยเฉพาะในช่วงหลัง 3 ทุ่มที่ร้านขายยาส่วนใหญ่ปิดให้บริการ  ขณะที่ร้านสะดวกซื้ออาจอยู่ไกลออกไป

                ตัวตู้มีจอแอลอีดีขนาดใหญ่ รองรับการขายโฆษณาผ่านหน้าจอ สามารถ VIDEO CONFERENCE และพูดคุยกับเภสัชกรออนไลน์ได้ มีช่องเสียบบัตรประชาชนเพื่อยืนยันตัวตน  วัดความสูง และวัดอุณหภูมิร่างกายได้  

                ผู้บริหาร JSP  บอกว่า ลงทุนเรื่องระบบและอุปกรณ์ตู้อัตโนมัติที่มีราคาสูง  เนื่องจากมองว่าอนาคตสามารถรองรับการทำ Telepharmacy หรือสามารถปรึกษาเภสัชกรออนไลน์ ก่อนที่จะซื้อยาจากตู้ได้  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะสามารถเกิดได้ภายใน 3 ปีข้างหน้า

                และล่าสุด เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา CDIP  ได้เปิดห้องปฏิบัติสำหรับตรวจสุขภาพ-ตรวจเลือด ที่จังหวัดชลบุรี จับกลุ่มลูกค้าพนักงานโรงงานและนักศึกษา   ซึ่งการที่ CDIP เข้าสู่ธุรกิจดังกล่าว เนื่องจากมองในมุมของนักวิจัยที่ต้องการฐานข้อมูลที่แสดงผลถึงภาพรวมของพฤติกรรมลูกค้า ซึ่งจะเป็นโจทย์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับผู้บริโภคกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้น

                 ด้านนางสาวจิรรัตน์ พวงนุ้ย  ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรม  CDIP เปิดเผยว่า  CDIP ประกอบธุรกิจต้นน้ำโดยเป็นผู้ให้บริการวิจัยและพัฒนา วิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์ พัฒนาสูตรและรูปแบบของผลิตภัณฑ์  มุ่งเชื่อมโยงผู้ผลิตงานวิจัย นักวิจัย ผู้ใช้งานวิจัย ในอุตสาหกรรมต่างๆ และผู้บริโภคงานวิจัย  ซึ่งหมายถึงตลาดและผู้บริโภคเข้าด้วยกัน เพื่อนำงานวิจัยไทยมาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์และผลิตเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ   โดยเน้นการต่อยอดงานวิจัยไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบเพื่อสุขภาพจากไทยสู่ตลาดโลก เสริมสร้างความแข็งแกร่งและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการเกษตร และสมุนไพรไทย

                CDIP มีห้องแล็บขนาดใหญ่ที่มีเครื่องมือที่ได้รับมาตรฐานระดับสากล และเครือข่ายนักวิจัย ระดับปริญญาเอก ทั้งจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)และอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ตั้งของ CDIP และมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งจะสนับสนุนให้ CDIP  สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการยกระดับงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ได้ด้วยเงินทุนที่ไม่มากเหมือนกับบริษัทใหญ่ ในต่างประเทศ

                ดร.สิทธิชัย  บอกว่าจุดเด่นที่สำคัญของ CDIP ก็คือ การเป็น  “ Contact  Research  Organization”  หรือ องค์กรที่จะส่งต่องานวิจัย โดยให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ  (One-Stop Service)  ลูกค้าไม่ต้องเสียเวลาในการติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ  และ  CDIP เป็น Innovation Service Provider  หรือ ผู้รับจ้างวิจัยที่ สวทช.ให้การรับรองอีกด้วย 

                อย่างไรก็ดี  JSP ตั้งเป้านำ CDIP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) ภายในปี 2568 และคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาด Mai  ได้ใน  5 ปีข้างหน้า.