เอไอเอสเปิดเวที “AIS Greenovation The Road Towards Digital World”ถกปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยกันลดและแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

i & Tech นวัตกรรมยั่งยืน

เอไอเอสเปิดเวทีถกปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยกันและแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน  TGO เผยตัวเลขมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงถึง 6 แสนล้านบาท  ด้านสภาอุตสาหกรรมชี้แม้ Net Zero จะเป็นเรื่องยากและท้าทาย แต่ภาคอุตสาหกรรมไทยตื่นตัวและต้องทำเพื่อให้แข่งขันได้ในเวทีโลก ขณะที่เอไอเอสย้ำความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และเส้นทางสู่ Green Network  รวมถึงปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์  ที่ทุกวันนี้มีการถือครอง Digital Device เฉลี่ย 8 กิโลกรัมต่อคน

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS
คุณสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS

               เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพ ฯ  AIS เปิดเวทีสัมมนา “AIS Greenovation The Road Towards Digital World เชื่อมต่อนวัตกรรมสู่การเติบโตในโลกดิจิทัลอย่างยั่งยืน”  โดยชวนพันธมิตรและ Stake Holder มาถกประเด็นถึงด้านสิ่งแวดล้อมและแนวทางการทำงานเพื่อร่วมกันลด และแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน  

               นางสาวภคมน สุภาพพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักรับรองธุรกิจคาร์บอนต่ำ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) กล่าวถึงสถานการณ์การปล่อยคาร์บอนทั้งในระดับโลก และในระดับประเทศ รวมถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในหัวข้อ  “Empowering Digital, Empowering Greener” ว่า ปัญหาโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะสามารถสัมผัสได้อย่างชัดเจน อย่างเช่น เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่กรุงเทพ ฯ  มีอุณหภูมิสูงเกิน 44 องศาเซนเซียส แต่โชคดีที่อุณหภูมิของประเทศไทยไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเหมือนสหภาพยุโรปที่ร้อนกว่า 45 องศาเซนเซียส และร้อนต่อเนื่อง  5 วันทำให้เกิดการเจ็บป่วยและล้มตายเป็นจำนวนมาก  โดยในช่วงกรกฏาคม-กันยายน ยุโรปมีผู้เสียชีวิตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่สูงขึ้น กว่า 60,000 ราย  ซึ่งเรื่องโลกร้อนยังทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล หากเราไม่ลดหรือควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นถึง   3-4 องศาเซนเซียส  และหากอุณหภูมิเพิ่ม 3 องศาเซนเซียส น้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้น 7 เมตร  ซึ่งหมายถึงพื้นที่ประเทศไทยจะหายไปครึ่งประเทศ

               “นอกจากนี้ยังมีประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการประเมินผลกระทบ โดยคิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งหมดถึง  600,000 ล้านบาท และค่าเสียหายนี้จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามอุณหภูมิ  อนาคตคาดว่าจะมีมูลค่าเสียหายเพิ่มขึ้นถึง 2.89 ล้านล้านบาท  เทียบเท่ากับงบประมาณในแต่ละปีของประเทศไทย เพื่อให้โลกอยู่ในภาวะที่เราสามารถอยู่ได้โดยไม่ทรมาน ได้มีการกำหนดว่าเราจะต้องควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น เกิน 1.5 องศาเซนเซียส   ซึ่งปัจจุบันค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2 องศาเซนเซียสแล้ว และในช่วงกรกฎาคมที่ผ่านมาบางวันเพิ่มถึง 1.5  องศาเซนเซียสเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นเราควรที่จะต้องตระหนักและร่วมมือกันอย่างจริงจังมากขึ้น”

               นางสาวภคมน กล่าวอีกว่า จากเป้าหมายของประเทศไทยที่จะมี Carbon Neutrality ในปี 2050 และเป็น  Net Zero GHG Emission  ในปี 2065  ซึ่งช้ากว่าประเทศอื่น ๆ เนื่องจากต้องการให้แต่ละภาคส่วนมีการปรับตัว แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไทยมีความตื่นตัวอย่างมาก และได้มีการประกาศตัวว่าจะมุ่งสู่ Net Zero  ภายในปี 2050 พร้อมกับสังคมโลก โดยมีองค์กรที่ริเริ่มด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจกแล้ว  511 องค์กร  ทั้งนี้การลดภาวะก๊าซเรือนกระจก จำเป็นต้องมีระบบที่ใช้ในการตรวจวัด และเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ  TGO จึงนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการก๊าซเรือนกระจกได้ง่ายและสะดวกขึ้น  อย่างเช่น แอพพลิเคชั่น “ Zero Carbon” ที่ช่วยให้คำนวณ และรับผิดชอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้    

               ด้านนายจำรัส สว่างสมุทร ผู้อำนวยการใหญ่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  กล่าวถึงเส้นทางสู่การเป็น Green Industry และบทบาทสำคัญของสภาอุตสาหกรรมต่อการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ว่า    การพัฒนาจากอุตสาหกรรมดั้งเดิม  ไปสู่ Next-Gen Industries    หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคตนั้น  สภาอุตสาหกรรม ฯ จะเน้นใน 3 เรื่องหลักคือ  1. การมุ่งสู่การเป็น S-CURVE Industries   ซึ่งปัจจุบันมี12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย   2. ถึงแม้จะ Transform จากอุตสาหกรรมเก่าเป็นอุตสาหกรรมใหม่ แต่สิ่งที่จะทำไปควบคู่กันก็คือ เอาหลักการเรื่อง BCG มาใช้  และ 3.  เรื่อง  Climate Change   ซึ่งสภาอุตสาหกรรมฯ สนใจว่าจะต้องทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมสามารถเปลี่ยนภาพพจน์จากผู้ร้ายกลายมาเป็นผู้ที่ช่วยเหลือสังคมได้

               “ มองว่าการทำ Net Zero ได้นั้นเป็นเรื่องยากและท้าทาย เพราะในภาคอุตสาหกรรมหากจะทำให้ไม่มีการปล่อยคาร์บอนเลยจะต้องเปลี่ยนเครื่องจักรซึ่งต้องลงทุนใหม่   แต่ด้วยมาตรการต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ที่เริ่มมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิต ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยตื่นตัวและเห็นว่าต้องทำ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก  ปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลก 66 บริษัทได้มีการประกาศตัวเองเป็น Frist Movers Coalition   ในการมุ่งสู่ Carbon Neutrality  และ Net Zero โดยเร็ว ทำให้ซัพพลายเออร์ต้องมีการรับรองตัวเองในการเป็น Carbon Neutrality และทำให้เกิดเป็น Carbon Neutrality ในทุกกระบวนการผลิต  ส่วนประเทศไทยในภาคอุตสาหกรรม มีแผนที่ชัดเจนที่จะไปสู่เป้าหมายการเป็น Carbon Neutrality  เช่น การปรับพอร์ตการผลิตไฟฟ้า และการใช้เชื้อเพลิงสู่ Low Carbon   การเพิ่มสัดส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีเป้าหมายยานยนต์ไฟฟ้าสะสม 1 ล้านคันในปี 2030  และการจัดการของเสียผ่าน BCG Model   ซึ่งจะเปลี่ยนจากการฝังกลบ มาเป็นการย่อยสลาย หรือนำกลับมาใช้ใหม่”

นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าหน่วยธุรกิจงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS 

               สำหรับหัวข้อ  “The Road Towards Green Network & Solution เส้นทางสู่การสร้างดิจิทัลโซลูชัน และโครงข่ายเพื่อสิ่งแวดล้อม”  นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าหน่วยธุรกิจงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS  กล่าวว่า  สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญและพูดถึงอย่างกว้างขวางในทุกโอเปอเรเตอร์ทั่วโลก จากการสำรวจพบว่ากว่า 50  %  ของโอเปอเรเตอร์ทั่วโลกมีการตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว   ซึ่งการดำเนินการของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมหรือการสื่อสาร  นอกจากจะต้องลดการใช้พลังงานของตนเองแล้ว ยังมีนวัตกรรม โซลูชั่น รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่ง AIS  ก็เช่นเดียวกัน  ในแต่ละปีมีกิจกรรมหลายอย่างเพื่อที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 17 ล้านต้น

                ที่ผ่านมา AIS  มุ่งสู่การเป็น Green Network  โดยดำเนินการทั้งเรื่องของพลังงาน ที่เปลี่ยนจากการใช้พลังงานจากฟอสซิลมาเป็นการใช้พลังงานหมุนเวียน  เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์และพลังงานลม การลดความซ้ำซ้อนและใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน เช่น การเป็นพาร์ทเนอร์กับ NT บนคลื่น 700 MHz  การ Moving to the Clound   เพื่อยืดอายุการใช้งานอุปกรณ์ต่าง  ๆ ให้ยาวนานขึ้น   การพัฒนา Autonomous Network ที่นำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในสถานีฐานเพื่อบริหารจัดการพลังงานให้เหมาะสมกับปริมาณการใช้งานของลูกค้า และ More Bits,Less Watts ที่ทุกการพัฒนาในแต่ละเจนเนเรชั่น จะมีการประหยัดไฟเพิ่มขึ้น 

               ขณะที่ นายวรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หัวเว่ยมีแนวคิดเรื่อง  Green  Development  ซึ่งจัดทำเป็นสมุดปกขาว โดยประกอบด้วย 2ส่วนสำคัญคือ  Low Carbonization และ Digitallization  ซึ่งทั้งสองจะเป็นฟันฟืองที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน  โดยหากจะทำเรื่อง Low Carbonization แสดงว่าเราต้องการโซลูชั่นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งก็ต้อง Go Green  และ Go  ICTมากขึ้น   ส่วนภาคอุตสาหกรรม จะคิดว่าจะทำ Digital Transformation  อย่างไรเพื่อให้เกิดพลังงานสะอาดและลดมลพิษ    ทั้งนี้ Green Development   จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดอุตสาหกรรมสีเขียว เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล  และช่วยเพิ่มส่วนแบ่งของพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า

               อย่างไรก็ดีในงานดังกล่าวได้มีการเสวนา “The Ecosystem of e-waste road to ZERO Waste”   ซึ่งเป็นเวทีในการพูดคุยถึงเรื่องของการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่การสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนเห็นความสำคัญและรู้ถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหากขยะเหล่านั้นไม่ได้เข้าสู่กระบวนการจัดการที่ถูกต้อง  โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย คุณสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS  คุณเอกพัชร์ สิทธิไตรวัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนธุรกิจและบริการกลาง บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน)  คุณสุทธิดา ฝากคำ ผู้จัดการอาวุโสด้านสิ่งแวดล้อมบริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์สยาม จำกัด (WMS)  คุณสมปรารถนา นาวงษ์ ผู้ก่อตั้งเพจอีจัน   และ ดร.ตฤณ ทวิธารานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์  หรือ ETDA เป็น Moderator

               คุณสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS   กล่าวว่า จากการศึกษาของ ITU  พบว่า  ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกทิ้งหรือเผาทำลาย  มีมูลค่าถึง 57,000 ล้านเหรียญสหรัฐ  แต่มีแค่ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น ที่มีการจัดเก็บอย่างถูกวิธีและนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล  และในการประชุม COP 28  ที่จะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ได้มีการบรรจุวาระเรื่องของ Green Digital Action  ด้วย สืบเนื่องจากเมื่อเราเข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น ก็จะส่งผลให้ปริมาณ  Digital Device   เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ยังมีการศึกษาของ GSMA  ที่มี คาดการณ์ว่าภายในสิ้นปีนี้ จะมีประชากรโลกประมาณ 5,400 ล้านคนที่ถือครองหรือใช้บริการโทรศัพท์มือถือ และภายในปี 2030 จะก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นถึง   9,000 ล้านคน  ประกอบกับผลการศึกษาของ WEEE  ซึ่งเทียบน้ำหนักของ Digital Device   ในปัจจุบันว่ามีประมาณ 61.3 ล้านตัน หรือเฉลี่ยถือครองประมาณ 8 กิโลกรัมต่อคน  

               “ จากข้อมูลปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก และมีการสำรวจพบว่ามีถึง  83 %  ที่ไม่รู้ว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นจะรีไซเคิลที่ไหน อย่างไร  รวมถึงไม่รู้ว่ารีไซเคิลได้และกลัวข้อมูลรั่วไหล  เป็นที่มาของการที่AIS ลุกขึ้นมาและเชิญชวนคนไทยให้เอาขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้งในโครงการคนไทยไร้ E-Waste  ซึ่งต่อมาได้มีการสร้าง HUB of E-Waste  ขึ้น โดยมีทั้งการให้ความรู้ สร้างความตระหนักรู้ สร้างคอมมูนิตี้ ที่ปัจจุบันมีเครือข่ายสีเขียว  190 องค์กร  มีจุดทิ้งขยะ E-Waste และแอพพลิเคชั่น E-Waste+  ทิ้งขยะได้ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์  มีระบบโลจิสติกส์  การนำขยะไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี  และมีการให้รางวัล ซึ่งปัจจุบันยังเป็นคาร์บอนสกอร์ แต่อนาคตจะผลักดันให้ไปสู่การเป็นคาร์บอนเครดิต ที่สามารถต่อยอดในการบริจาคหรือลดหย่อนภาษีได้”

               สำหรับผลกระทบจากขยะ E-Waste  หากไม่ได้รับการจัดการที่ถูกวิธี คุณสุทธิดา ฝากคำ ผู้จัดการอาวุโสด้านสิ่งแวดล้อมบริษัท เวสท์ แมเนจเม้นท์สยาม จำกัด (WMS)   กล่าวว่า  หากกำจัดผิดวิธี หรือเก็บไว้ในบ้าน อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจากโลหะที่เป็นพิษ รวมถึงก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม  นอกจากนี้ยังสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ เนื่องจากโลหะต่าง  ๆ ที่มีอยู่ใน E-Waste   ถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่า สามารถนำกลับมาใช้ในกระกระบวนการผลิตต่อไปได้ หากได้รับการจัดการหรือผ่านกระบวนการรีไซเคิลที่ถูกวิธี

               การจัดงานครั้งนี้ AIS ได้สร้างการมีส่วนร่วมให้เกิด Green Network ที่จะนำไปสู่พัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมทั้งการชวนทุกคนมาร่วมกันทิ้ง E-Waste และได้มีการคำนวณปริมาณ Carbon Footprint ที่เกิดขึ้นจากการจัดงานในทุกส่วน เพื่อทำการซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยเท่ากับปริมาณที่ปล่อยออกมา และทำให้การจัดงานครั้งนี้เป็นงาน Carbon Neutral Event ที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก