ไบโอเทค สวทช. พัฒนา “เห็ดแครงสายพันธุ์ใหม่”หวังต่อยอดเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือก

ออนไซต์-ในสนาม

ไบโอเทค สวทช. พัฒนา “เห็ดแครงสายพันธุ์ใหม่” คุณภาพสูง พร้อมปูทางสู่เกษตรกร และชี้ทางต่อยอดเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือก

(4 ก.ค. 68) ณ ศูนย์รวมสวนเห็ดบ้านอรัญญิก จ.นครปฐม – คณะวิจัยทีมปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดตัวการพัฒนาเห็ดแครงสายพันธุ์ใหม่ ภายใต้โครงการ “การประเมินลักษณะทางพันธุกรรมและลักษณะปรากฏทางกายภาพ และการปรับปรุงสายพันธุ์เห็ดแครงเพื่อสร้างสายพันธุ์ลูกผสมที่ดีและมีความคงตัวทางพันธุกรรม” ทำให้ได้เห็ดแครงสายพันธุ์ลูกผสมใหม่ที่มีความโดดเด่นและคงตัวทางพันธุกรรมสูง มีคุณภาพตามความต้องการของตลาดทั้งในด้านผลผลิตสูง ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ออกดอกเร็ว ขนาดและสีตรงกับความต้องการตลาด รวมถึงมีคุณสมบัติของสารสำคัญที่ดีและมีคุณค่าทางโภชนาการ ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ และจะเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยยกระดับศักยภาพของเกษตรกรผู้เพาะเห็ดไทย พร้อมกันนี้ได้ลงพื้นที่ศูนย์รวมสวนเห็ดบ้านอรัญญิก จ.นครปฐม เพื่อให้เห็นถึงการเพาะเห็ดแครงสายพันธุ์ใหม่ในโรงเรือนที่ได้ผลดีและมีประสิทธิผล รวมถึงชี้ให้เห็นแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเห็ดแครงเพื่อต่อยอดสู่แหล่งโปรตีนทางเลือกและอาหารเพื่อสุขภาพ

          ดร.อัมพวา ปินเรือน นักวิจัยทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า โครงการ “การประเมินลักษณะทางพันธุกรรมและลักษณะปรากฏทางกายภาพ และการปรับปรุงสายพันธุ์เห็ดแครงเพื่อสร้างสายพันธุ์ลูกผสมที่ดีและมีความคงตัวทางพันธุกรรม” ได้เริ่มจากการรวบรวมเห็ดแครง 121 สายพันธุ์จากป่าชุมชนและสวนเกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อศึกษาลักษณะการออกดอก โดยคณะวิจัยได้นำสายพันธุ์เหล่านั้นมาใช้เทคนิคแยกสปอร์เดี่ยว (Single Spore Isolation) เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์เด่นที่มีลักษณะน่าสนใจ เช่น ดอกสวย สีขาวน่าทาน ไม่เหนียว กลิ่นหอมอ่อน ๆ ไม่มีกลิ่นเห็ดแรง จากนั้นจึงนำมาผสมพันธุ์ (Breeding) เพื่อสร้างสายพันธุ์ลูกผสมที่ดีที่สุด ซึ่งเห็ดแครงสายพันธุ์ลูกผสมที่ได้มีลักษณะโดดเด่นคือ ดอกมีขนาดใหญ่ กอสวยงาม สีขาวนวล กลิ่นอ่อนจนแทบไม่มีกลิ่นเห็ด รสชาติดีไม่ติดขม (เมื่อชิมดอกสด) และมีขนาดดอกสม่ำเสมอ

          ผลการเปรียบเทียบกับสายพันธุ์การค้า พบว่าเห็ดแครงลูกผสมใหม่นี้ให้ผลผลิตสูงกว่า ออกดอกเร็วกว่า ดอกขนาดใหญ่กว่า สีอ่อนกว่า กอใหญ่กว่า รสชาติดีกว่า (ไม่ติดขม) เนื้อสัมผัสดีกว่า (ไม่เหนียว) และกลิ่นอ่อนกว่า (แทบจะไม่มีกลิ่นเห็ด) ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ตรงกับความต้องการของตลาดและการแปรรูปเป็นอย่างยิ่ง และที่สำคัญคือ มีความคงตัวทางพันธุกรรม ไม่กลายพันธุ์ได้ง่าย เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ลูกผสมที่ได้จากการคัดเลือกสปอร์เดี่ยว

          ด้าน นายบุญโชค ไทยทัตกุล เกษตรกรผู้เชี่ยวชาญและเจ้าของศูนย์รวมสวนเห็ดบ้านอรัญญิก ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้และเพาะเห็ดครบวงจร เผยว่า การนำเห็ดแครงสายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาโดยไบโอเทค มาขยายผลในโรงเรือนจริง สิ่งสำคัญในการเพาะเห็ดแครงคือ การรักษาความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศให้สูงตลอดเวลา ซึ่งทำได้โดยการพ่นหมอกและรดน้ำถี่ ๆ ทำให้สามารถเพาะเห็ดได้ตลอดทั้งปี ซึ่งผลลัพธ์การเพาะเห็ดแครงสายพันธุ์ใหม่น่าพอใจ เพราะให้ผลผลิตสูง ออกดอกเร็ว รสชาติดี ดอกใหญ่ และสามารถเก็บเกี่ยวได้ถึง 3 รุ่น ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มกำไรให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี และในฐานะตนเองเป็นแพทย์แผนโบราณด้วย อยากย้ำว่าเห็ดเป็น “อาหารที่ดี” ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ไม่ต่างจาก “หมอที่ดี” และ “ยาที่ดี” ที่จำเป็นต่อสุขภาพ

          และ นายขวัญทอง ชุมนุมพร ผู้ผลิตอาหารแพลนต์เบส ให้มุมมองในฐานะผู้ประกอบการว่า เห็ดแครงมีศักยภาพสูงในการเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับอาหารโปรตีนทางเลือก ด้วยปริมาณโปรตีนที่สูงกว่าเห็ดทั่วไปและสารอาหารครบครัน ทางผู้ผลิตได้นำเห็ดแครงร่วมกับเห็ดนางรมและเห็ดมิลค์กี้ มาพัฒนาเป็น “เนื้อหมูบดจากพืช” ที่มีเนื้อสัมผัสและคุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงเนื้อสัตว์จริง นอกจากนี้ยังต่อยอดสู่เมนูอาหารและแพลนต์เบสหลากหลาย เช่น หอดทอดเห็ดแครง ผัดกะเพราเห็ดแครง คั่วกลิ้งเห็ดแครง หมูปิ้ง แหนม เบอร์เกอร์ รวมถึงอาหารแช่แข็ง เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้เห็ดไทย เปิดโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ ในฐานะโปรตีนทางเลือกที่อร่อยและดีต่อสุขภาพ

          “สำหรับแผนงานต่อยอด ทางคณะวิจัยจะเดินหน้าส่งเสริมและต่อยอดสายพันธุ์ลูกผสมเห็ดแครงนี้ โดยจะมีการขึ้นทะเบียนพันธุ์เห็ด ถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังเกษตรกรผู้เพาะเห็ด รวมถึงส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และใช้เห็ดแครงเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่น่าสนใจ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจของประเทศต่อไป” ดร.อัมพวา ปินเรือน นักวิจัยไบโอเทค กล่าวปิดท้าย