10 ประเด็นดาราศาสตร์ที่น่าติดตามในปี 2565

Cover Story

               ใกล้ปีใหม่เข้าไปทุกที….แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยังไม่จางหายไป  แต่เรื่องราวในวงการดาราศาสตร์ไทยและทั่วโลกรวมถึงปรากฎการณ์บนท้องฟ้าก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจเสมอ

              และปีนี้ก็เหมือนเช่นเคย… สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)  หรือ สดร.  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)  ได้เปิดโผ “10 ประเด็นดาราศาสตร์น่าติดตามในปี 2565”  ซึ่งมีเรื่องเด่น ๆ ทั้งปรากฎการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงวันลอยกระทง การเกาะติดการส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ขึ้นสู่อวกาศ จับตาการสำรวจอวกาศทั่วโลก อัพเดทงานวิจัยดาราศาสตร์ งานพัฒนาเทคโนโลยีฝีมือวิศวกรไทย พร้อมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์น่าติดตามตลอดปี

              “ดร. ศรัณย์   โปษยะจินดา”   ผู้อำนวยการ สดร. และ “ดร.วิภู  รุโจปการ”  รองผู้อำนวยการ สดร. ได้บอกเล่าถึง  10 เรื่องราวดาราศาสตร์สำคัญในปี 2565 ที่ชวนติดตาม มีดังนี้

              เรื่องแรกคือ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้-ไกลโลก  

              โดยดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี ในวันที่18 มกราคม 2565 และดวงจันทร์เต็มดวงใกล้ที่สุดในรอบปีในวันที่ 14 กรกฎาคม 2565   

              เรื่องต่อมาคือปรากฏการณ์ดาวเคราะห์น่าติดตาม 

              ซึ่งจะมีทั้งดาวศุกร์อยู่ในตำแหน่งสว่างที่สุดในรอบปีในช่วงเช้าวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565  และปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ใกล้โลก  ซึ่งในปี 2565 มีดาวเคราะห์ที่โคจรเข้าใกล้โลก 3 ดวง ได้แก่ ดาวเสาร์ใกล้โลกในวันที่15 สิงหาคม 2565  ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกในวันที่ 27 กันยายน 2565 และดาวอังคารใกล้โลกในวันที่  1 ธันวาคม 2565  โดยนับเป็นโอกาสดีสำหรับการสังเกตการณ์ดาวเคราะห์วงนอก จะมองเห็นตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ปรากฏยาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า และมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย

              เรื่องที่ 3 คือ จันทรุปราคาเต็มดวงวันลอยกระทง  8 พฤศจิกายน 2565  

              โดยในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลา 15.02 น. จากนั้นค่อย ๆ เคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลก เกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 16.09 น. และเข้าสู่จันทรุปราคาเต็มดวงตั้งแต่เวลา 17.16-18.41 น. ในวันดังกล่าว ประเทศไทยดวงจันทร์จะโผล่พ้นจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 17.44 น. (เวลา ณ กรุงเทพฯ) ทำให้ผู้สังเกตในไทยมีโอกาสมองเห็นดวงจันทร์ปรากฏเป็นสีแดงอิฐทั้งดวงนานถึง 57 นาที ก่อนที่จะเข้าสู่จันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 18.42-19.49 น. และเข้าสู่จันทรุปราคาเงามัวที่สังเกตเห็นได้ยาก และสุดท้ายดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกเวลา 20.56 น. ถือว่าเป็นการสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์

              ทั้งนี้ในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นวันลอยกระทงของประเทศไทย ดวงจันทร์จะเข้าสู่เงามืดของโลกทั้งดวงตั้งแต่เวลา 17.16 น. ทำให้คนไทยจะได้ชมดวงจันทร์เต็มดวงสีแดงอิฐค่อยๆ โผล่พ้นจากขอบฟ้าในเวลา 17.44 น. จนดวงจันทร์ออกจากเงามืดทั้งดวงในเวลา 18.41 น.

              เรื่องที่ 4 คือ  Dark Sky in Thailand เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด สู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์

              สดร. ได้ริเริ่มโครงการเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย (Dark Sky in Thailand) เพื่อผลักดันให้เกิดสถานที่ที่รักษาและสงวนความมืดของท้องฟ้าเวลากลางคืนด้วยวิธีการใช้แสงสว่างอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงดาราศาสตร์ให้กับประเทศ เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ อุทยานท้องฟ้ามืด เขตชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล และเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง (ข้อมูลเพิ่มเติม https://darksky.narit.or.th/)

              เรื่องที่ 5 หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนแห่งที่ 4 ของไทย ณ จังหวัดขอนแก่น

              หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น เป็นหนึ่งในโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 29 ไร่ บริเวณเทศบาลตำบลเขื่อนอุบลรัตน์ อ. อุบลรัตน์ จ. ขอนแก่น  เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 คาดว่าจะเปิดให้บริการประมาณปลายปี 2565 หากแล้วเสร็จ จะเป็นศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์สำหรับประชาชน และสถาบันการศึกษาภูมิภาค สร้างความตระหนักและความตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในชุมชน และพื้นที่ใกล้เคียงมากยิ่งขึ้น

              เรื่องที่ 6  อัพเดทข่าวสารดาราศาสตร์โลก

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ (JWST)

              ปี 2565 นับเป็นปีที่มีความเคลื่อนไหวสำคัญในวงการดาราศาสตร์และอวกาศสำคัญ และน่าติดตามมากมายหลายเรื่อง อาทิ  การส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope: JWST) ขึ้นสู่อวกาศ เพื่อใช้งานทดแทนกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลที่ปฏิบัติงานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2533 เดิมมีกำหนดการขึ้นสู่อวกาศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 แต่ก็เลื่อนเรื่อยมาจนกระทั่งล่าสุดมีกำหนดปล่อยตัวในปลายปี พ.ศ. 2564  

              การทดสอบจรวดรุ่นใหม่เพื่อใช้งานเชิงพาณิชย์    เช่น จรวดอารียาน 6 ขององค์การอวกาศยุโรป จรวดนิวเกล็น ของบริษัทบลูออริจิน จรวดวัลแคนเซนทอร์ ของบริษัทเอกชนในสหรัฐฯ จรวดสตาร์ชิป ของบริษัทสเปซเอ็กซ์

จรวดอารียาน 6 (Ariane 6)

              การส่งยานสำรวจขึ้นสำรวจดวงอาทิตย์   โดยจีน และอินเดีย กำหนดส่งยานสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ลำแรกของแต่ละประเทศขึ้นสู่อวกาศ ได้แก่ ยาน ASO-S (Advanced Space-based Solar Observatory) ของจีน และ ยานอาทิตย์-L1 (Aditya-L1) ของอินเดีย 

              นอกจากนี้ยังมีการส่งยานสำรวจดวงจันทร์  ดาวอังคารและดาวเคราะห์น้อย ต่าง ๆ

              เรื่องที่ 7  First Light หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ

              หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ (Thai National Radio Astronomy Observatory : TNRO) ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายวิทยุและยีออเดซี ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุจานเดี่ยว แบบแนสมิธ-แคสสิเกรน ส่วนของจานรับสัญญาณสามารถหมุนได้ทั้งตามแกนตั้งและแกนนอน เพื่อติดตามเทหวัตถุอย่างแม่นยำ ใช้ศึกษาเทหวัตถุในเอกภพ และปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ดาวเคราะห์และดาวหางในระบบสุริยะ ดวงอาทิตย์ ดาวฤกษ์ ดาราจักรกัมมันต์ การระเบิดของดาวฤกษ์ ดาวนิวตรอน กาแลกซี หลุมดำ ฯลฯ

              ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ได้ติดตั้งจานรับสัญญาณขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร น้ำหนักประมาณ  800 ตัน ต่อมาในเดือนตุลาคม 2564 ได้ทดสอบระบบขับเคลื่อนจานรับสัญญาณให้สามารถหมุนได้ทั้ง 2 แกน ขณะนี้ได้ติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดของจานรับสัญญาณเรียบร้อยแล้ว เตรียมพร้อมการติดตั้งตัวรับสัญญาณเพื่อรับสัญญาณแรกในช่วงเดือนมกราคม 2565

              เรื่องที่ 8 งานวิจัยดาราศาสตร์ไทยน่าจับตา  

This image illustrates all three classes of the 99 telescopes planned for the southern hemisphere at ESO’s Paranal Observatory, as viewed from the centre of the array. This rendering is not an accurate representation of the final array layout, but it illustrates the enormous scale of the CTA telescopes and the array itself.

              หลากหลายหัวข้อการศึกษาวิจัย และการค้นพบองค์ความรู้ใหม่จากนักดาราศาสตร์ไทย เช่น การค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะใหม่รอบระบบดาวคู่ นับเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรกที่ถูกค้นพบโดยคนไทยทั้งหมด การค้นหาสสารมืดจากกาแล็กซีแคระ Draco และ Sculptor และงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศ ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5  ในอากาศ เพื่อคาดการณ์การกระจายตัว การเคลื่อนที่ การเปลี่ยนแปลง รวมถึงการสะสมตัวของฝุ่นละอองและมลพิษต่าง ๆ ในอากาศ ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศ

              เรื่องที่ 9 ประเทศไทยกับก้าวสำคัญด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ

              “ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย Thai Space Consortium: TSC” กำหนดแผนสร้าง “ดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ไปโคจรรอบดวงจันทร์ในปี พ.ศ. 2570” ทั้งนี้ระหว่างเส้นทาง หน่วยงานภาคีฯ จะร่วมมือกันสร้างดาวเทียมวิจัยขนาดเล็ก 2 ดวง เพื่อทดสอบเทคโนโลยีต่างๆ ก่อนส่งยานไปโคจรรอบดวงจันทร์ การออกแบบและสร้างดาวเทียมถือเป็นโจทย์ยากที่ท้าทายความสามารถของบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ขั้นสูง ที่จะปูทางไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศในอนาคต

              ปัจจุบัน ทีมวิศวกรของหน่วยงานภาคีฯ ได้พัฒนา Payload ซึ่งเป็นอุปกรณ์ปฏิบัติภารกิจสำหรับติดตั้งบนดาวเทียม 2 ชุด ได้แก่  กล้องถ่ายภาพหลายช่วงคลื่น (Hyperspectral Imager) และอุปกรณ์สำรวจสภาพอวกาศ (Space Weather)

              และเรื่องที่ 10  ดาราศาสตร์ผลักดันนวัตกรรมล้ำหน้า

              สดร. ใช้ดาราศาสตร์ซึ่งเป็นโจทย์วิทยาศาสตร์ขั้นแนวหน้าในการพัฒนาคนและเทคโนโลยี จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกจำนวนมาก มีต้นกำเนิดมาจากการพัฒนาในวงการวิทยาศาสตร์ขั้นแนวหน้า นั่นเป็นเหตุผลที่ สดร. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาและสร้างเครื่องมือและอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ด้วยตัวเอง เพื่อยกระดับความสามารถงานวิจัยและวิศวกรรม ปรับเปลี่ยนจากการเป็นผู้ซื้อและพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เป็นผู้ออกแบบและสร้างอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ระดับสูง

              ปัจจุบัน สดร. ได้ต่อยอดการสร้างนวัตกรรมล้ำหน้าในหลากหลายสาขา อาทิ การพัฒนาเครื่องมือแพทย์  การออกแบบและสร้างกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด และระบบซอฟต์แวร์ฉายดาว ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลงานของนักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรฝีมือคนไทยทั้งสิ้น

              สนใจข่าวสารดาราศาสตร์ ติดตามได้ที่ www.facebook.com/NARITpage หรือ www.NARIT.or.th