10 เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปี 2565 : ต้นแบบเกษตรกรยุคใหม่ มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนแบบยั่งยืน

Cover Story

           ดำเนินโครงการมาเป็นปีที่ 14 กับ “โครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด” ที่มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และดีแทค (dtac) จัดขึ้น เพื่อพัฒนาผู้นำชุมชน ด้วยปณิธานที่หวังปลุกจิตสำนึกการพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนแก่เยาวชน ของผู้ก่อตั้ง “ คุณบุญชัย เบญจรงคกุล ”

           “ คุณบุญชัย  เบญจรงคกุล ” ประธานกรรมการมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด   กล่าวว่า มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกัน ฯ  มุ่งมั่นที่จะสร้างเมล็ดพันธุ์ที่ดีให้กับแผ่นดินไทย จึงน้อมนำและดำเนินตามรอยพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9   ตามหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” ผสมผสานกับ “เกษตรทฤษฎีใหม่” มาเป็นหลักในโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดทุกปี เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณเกษตรกรต้นแบบต่อสาธารณชน ให้ได้เป็นที่รู้จักและเป็นแบบอย่างที่ดี ส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ และก้าวเดินต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

           โดยในปี 2565 นี้  โครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 14 ภายใต้แนวคิด “เกษตรนวัตกรรม เพื่อความสุขยั่งยืน”   เพื่อเฟ้นหาเกษตรกรที่มีศักยภาพในการเป็นต้นแบบสำหรับเกษตรกรยุคใหม่ที่มีวิธีคิดอย่างเป็นระบบ  สามารถนำองค์ความรู้และนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอด และประยุกต์ใช้งานจนเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม  สามารถปรับตัวกับกระแสการเปลี่ยนแปลง พึ่งพาตนเองได้ และพร้อมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

คณะกรรมการ

           จากผู้สมัครหลายร้อยคน ผ่านการคัดเลือกจนเหลือผู้เข้ารอบ 10 คนสุดท้าย เข้าร่วมนำเสนอไอเดียและผลิตภัณฑ์ โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด กรมส่งเสริมการเกษตร ดีแทค ม.เกษตร สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และบริษัทรักบ้านเกิด จำกัด ร่วมกันเฟ้นหาสุดยอดเกษตรกรสำนึกรักบ้าเกิดประจำปี พ.ศ.2565

         ผลการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ   เป็นสุดยอดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดประจำปี พ.ศ.2565 ได้แก่ “ประเสริฐ ไกนอก”  เกษตรกรจากโกโก้นางั่ว จังหวัดเพชรบูรณ์ เกษตรกรผู้ใช้นวัตกรรมทางความคิด ปรับ Mind set เพื่อสร้างระบบนิเวศ ให้ทั้งคนและต้นไม้อยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตัวเอง ทำการเกษตรที่ลดต้นทุนและยั่งยืน

ประเสริฐ ไกนอก

             ประเสริฐ ไกนอก บอกว่า ด้วยความที่ไม่อยากให้รุ่นลูกรุ่นหลานที่ทำเกษตร ต้องเจอสภาวะเหมือนอดีต ไม่หลุดพ้นจากวงจรหนี้สินที่ผูกพันไปเรื่อย ๆ จากการปลูกพืชเลื่อนลอย จึงนำไปสู่การใช้นวัตกรรมทางความคิดที่จะปรับ Mind set เพื่อสร้างระบบนิเวศให้ทั้งคนและต้นไม้อยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตัวเอง เป็นการทำเกษตรที่ลดต้นทุนและยั่งยืน จึงได้รวมกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กลับมาอยู่บ้านเกิด ก่อตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มโกโก้นางั่ว” ปลูกและรับซื้อผลผลิตโกโก้จากเกษตรกร มาทำเป็น “คราฟท์ช็อกโกแลต ออริจิ้น เพชรบูรณ์” นำเทคโนโลยีมาใช้ทำการตลาด เช่น การจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ การประชาสัมพันธ์กลุ่มผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย และช่องทางการให้ความรู้ผ่าน YouTube ในชื่อช่อง Cacao Hub”

        เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดปีนี้ ย้ำว่า สิ่งที่ทำไม่ใช่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกโกโก้ หรือพืชใด ๆ แต่เป็นมุ่งเน้นให้เกิดแนวคิดในการสร้างระบบนิเวศที่ทำให้คนในชุมชนสามารถทำการเกษตรได้แบบยั่งยืน เพราะ คน ต้นไม้ สามารถจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตัวเอง

จตุรงค์ จันมา

         ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1  ได้แก่   “จตุรงค์ จันมา”    เกษตรกรจากสวนนำฮอย จังหวัดยโสธร เกษตรกรนักคิดค้น พัฒนา นำไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์โดยใช้นวัตกรรมเครื่องจักรกลทางการเกษตร ในกระบวนการผลิตข้าวตั้งแต่เริ่มปลูกจนเก็บเกี่ยวผลผลิต

         “จากปัญหาสุขภาพ ที่เกิดจากการรับประทานข้าว ผัก ผลไม้ ที่ใส่ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงมาอย่างยาวนาน จึงเกิดความคิดที่อยากจะชักชวนพ่อแม่ พี่น้อง หันมาทำเกษตรอินทรีย์ เหมือนในสมัยก่อน จนกลายเป็น “กลุ่มเกษตรอินทรีย์ดงแคนใหญ่” ปลูกข้าวไร้สารพิษ เน้นปฏิบัติในแปลงตั้งแต่ต้นปี โดยการไถกลบต่อฟางข้าว หว่านหรือปลูกพืชปุ๋ยสด เพิ่มแร่ธาตุสารอาหารในดิน รวมถึงการนำนวัตกรรมในการคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ข้าว ใช้แทรกเตอร์ในการไถเตรียมดิน นำเทคโนโลยีการดำนากลีบเดียว และส่งเสริมให้สมาชิกในกลุ่มผลิตน้ำหมักชีวภาพ และสารชีวภัณฑ์ เพื่อใช้ในการบำรุง และเร่งการเจริญเติบโต ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต ตลอดจนได้ผลผลิตที่สะอาด ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อพื้นที่ปลูก”

ธนาสิทธิ์ สอนสุภา

         ขณะที่รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ “ธนาสิทธิ์ สอนสุภา”  จากสวนลุงไข่ เกษตรอินทรีย์ จังหวัดชุมพร หนุ่มไอทีผู้ผันตัวเองเป็นเกษตรกรเต็มตัว สานต่อสวนกาแฟจากคุณพ่อที่ปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า พัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพ ใช้เครื่องซักผ้าในการปั่นล้างผลกาแฟ รวมถึงใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างเครื่องสีกาแฟสด เครื่องล้างขัดเมือก เครื่องสีกะลา ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมนำความรู้ที่มีมาแบ่งปันคนในชุมชน และสามารถกำหนดราคากาแฟเองได้ ไม่ต้องผ่านคนกลาง เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟให้มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง มีความสุข และยั่งยืน   

          นอกจากนี้ยังมี  7 รางวัลเกษตรกรดีเด่น   ซึ่งประกอบด้วย

          “ธวัชชัย สุริยะธรรม” เกษตรกรจากสยามทรัส (Siam Trust) จังหวัดเลย ลูกหลานเกษตรกรที่มีความตั้งใจอย่างแรงกล้าในการกลับมาทำการเกษตร โดยเลือกที่จะแปรรูปกล้วยน้ำว้าให้เป็นกล้วยตากรสชาติต่าง ๆ ส่งเสริมการปลูกกล้วยโดยการรวมกลุ่มกับเกษตรกรในพื้นที่ตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการควบคุมการผลิต  โดยต้องการยกระดับเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร

         “จักรภพ แสงแก้ว”  จากพรานพอเพียง ออร์แกนิค ไลฟ์สไตล์ แอนด์ ฟาร์ม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เกษตรกรที่เห็นถึงปัญหาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในชุมชนที่เริ่มเสื่อมถอย จึงลุกขึ้นมาทำเกษตรแบบผสมผสานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ช่วยในการเพิ่มผลผลิต และมีแนวคิด “Zero waste”  เป็นกรอบในการทำงาน

         “ นที  โดดสูงเนิน”  เกษตรกรจากอำพันฟาร์ม จังหวัดนครราชสีมา ที่ตัดสินใจกลับมาสานต่ออาชีพเลี้ยงโคนมจากครอบครัวและต่อยอดพัฒนาให้เกิดรายได้  โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต

         “ชัยพิสิษฐ์ สอนศรี” เกษตรกรจากมายโฮม @41 จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ผันตัวเองจากอาชีพเลี้ยงสุกรที่กำลังประสบปัญหาโรคระบาด หลังจากศึกษาศาสตร์ของพระราชาฯ จึงหันมาปลูกพืชผักอินทรีย์แทน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

         “ ดร.พิธาน ไพโรจน์” เกษตรกรจากไร่นาปภาวรินทร์ จังหวัดสุรินทร์  อดีตวิศวกรโยธาและอาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัย ที่ต้องใช้ชีวิตแบบเร่งด่วนและเต็มไปด้วยมลพิษ ที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา จึงเริ่มศึกษาหลักปรัชญาพอเพียง และลงมือทำที่ไร่นาปภาวรินทร์ เพื่อสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัยให้กับครอบครัวและชุมชน

          “ วาริส แก้วภักดี”  เกษตรกรจากกรีนวิลล์ฟาร์ม จังหวัดฉะเชิงเทรา จากแรงบันดาลใจ ผักสลัดแปลงเล็ก ๆ หลังโรงรถ ต่อยอดเป็นธุรกิจฟาร์มคาเฟ่ ที่ทุกคนสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำฟาร์มพร้อมกับทานเมนูอร่อย ๆ จากผลผลิตที่เก็บสด ๆ จากโรงเรือนที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ

         และ “อมลวรรณ ปริดตา” เกษตรกรจากอิมม์ฟาร์ม จังหวัดลำพูน  ที่มีเป้าหมายคือต้องการขายนมที่อร่อยมีคุณภาพสูง  มีการลองผิดลองถูกจนได้นมที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ และเมื่อประสบปัญหาจากโควิด-19 สหกรณ์รับซื้อน้ำนมน้อยลง จึงพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ด้วยการขายนมคอร์สหรือการผูกปิ่นโตนม ซึ่งได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี พร้อมกันนี้ได้มีการแปรรูปนมเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อีกด้วย

         สำหรับก้าวต่อไป คุณบุญชัย  บอกว่า ปีที่14 ไม่ใช่ปีสุดท้าย ซึ่งในปีที่ 15 อาจจะมีการยกระดับความร่วมมือจากการส่งเสริมเกษตรกรในรายบุคคล ไปสู่การสนับสนุนเกษตรกรแปลงใหญ่ ที่จะมีการโชว์เคทเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจ

         และนี่…ไม่ใช่แค่ผลงานของเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดทั้ง 10 ท่าน แต่เป็นต้นแบบเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดทั้ง 140 ท่านใน 14 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวคิดที่สร้างสรรค์ มีประโยชน์  และสามารถเป็นตัวอย่างสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ “ให้กล้าที่จะคิดและตัดสินใจกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง ”