“เครื่องสำอางชะลอวัยจากสาหร่ายพวงองุ่น” ฝีมือนักวิจัย มทร.ธัญบุรี

เวทีวิจัย

จากสาหร่ายพวงองุ่น สาหร่ายทะเลสีเขียว (green algae) หนึ่งในอาหารยอดนิยมของชาวญี่ปุ่น  ที่นอกจากจะมีคุณค่าทางอาหารสูงแล้ว  วันนี้… ด้วยฝีมือของนักวิจัยไทยได้พิสูจน์ถึงคุณค่าจากสารสำคัญในสาหร่ายชนิดนี้และนำไปสู่การพัฒนาเป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ช่วยชะลอวัย ใช้ได้กับทุกเพศทุกวัยและที่สำคัญยังช่วยเพิ่มมูลค่าและลดของเสีย (waste) จากสาหร่ายพวงองุ่นตกเกรดอีกด้วย

 เมื่อเร็ว ๆ นี้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)โดยดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายชาญณรงค์ มณีรัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ วช. นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมผลสำเร็จของโครงการ “นวัตกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชะลอวัยจากสารสกัดสาหร่ายพวงองุ่นที่กักเก็บในอนุภาคนีโอโซม”  ซึ่งมี “ รศ.ดร.กรวินท์วิชญ์  บุญพิสุทธินันท์ ” แห่งหน่วยวิจัยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากภูมิปัญญาไทย คณะการแพทย์บูรณาการ  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เป็นหัวหน้าโครงการฯ โดยมี “ ดร.วัชระ ดำจุติ ” รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะการแพทย์บูรณาการ มทร.ธัญบุรี พร้อมด้วยคณะนักวิจัยให้การต้อนรับ ณ คณะการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี

รศ.ดร.กรวินท์วิชญ์   บุญพิสุทธินันท์  หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ในปี 2565 โดยสาหร่ายพวงองุ่นอุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินหลายชนิด ทั้งกรดไขมัน PUFA วิตามินบี 2 วิตามินอี และเกลือแร่ ซึ่งจากข้อมูลการวิจัยด้านโภชนาการและฤทธิ์ทางชีวภาพเบื้องต้น พบว่า สาหร่ายพวงองุ่น ซึ่งมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันที่ดี ช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวได้

 อย่างไรก็ตามการเพาะสาหร่ายพวงองุ่นในปัจจุบัน ยังพบว่าสาหร่ายพวงองุ่นบางส่วนมีรูปร่างไม่เป็นพวงสวยงาม  ทำให้ไม่สามารถขายตามราคาในท้องตลาด  บางครั้งต้องกำจัดทิ้งทำให้เสียมูลค่า คณะนักวิจัยจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาสาหร่ายพวงองุ่นที่ตกเกรดให้เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง  เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าและการลดของเสีย (waste) จากสาหร่ายพวงองุ่น  

ทั้งนี้คณะนักวิจัยได้ดำเนินการเริ่มจากการนำสาหร่ายพวงองุ่นที่ตกเกรดมาศึกษาหาวิธีสกัดสารสำคัญที่เหมาะสม   โดยทดลองทั้งแบบสกัดด้วยวิธีการแยกกาก ที่เปรียบเทียบสาหร่ายแบบตกเกรดและไม่ตกเกรด ซึ่งพบว่าได้สาระสำคัญไม่แตกต่างกัน การสกัดด้วยวิธี Maceration ด้วยแอลกอฮอล์ 95 %  และการสกัดด้วยวิธีการต้มด้วยน้ำกลั่น   หลังจากนั้นนำสารสกัดจากทั้งสามวิธีมาวิเคราะห์หาปริมาณสารสำคัญต่าง ๆ พร้อมทั้งทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพและด้านความปลอดภัย ซึ่งพบว่าสารสกัดสาหร่ายพวงองุ่นที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ 95 %     มีคะแนนฤทธิ์ทางชีวภาพสูงที่สุด  โดยมีทั้งฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์การยับยั้งการเกิดเปอร์ออกซิเดชันของไขมัน ฤทธิ์การเกิดคีเลชันของโลหะ ฤทธิ์ต้านเอนไซม์ไทโรซิเนส ฤทธิ์กระตุ้นคอลลาเจน รวมถึงฤทธิ์กระตุ้นยีนชะลอวัยในเซลล์ผิว อีกทั้งไม่มีความเป็นพิษในเซลล์  จึงคัดเลือกสารสกัดจากวิธีดังกล่าวไปกักเก็บในอนุภาคนีโอโซมซึ่งมีขนาดเล็กระดับนาโนเมตร  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการซึมผ่านผิวหนัง

นักวิจัยกล่าวว่า ข้อดีของการทำเป็นอนุภาคนีโอโซม คือมีโครงสร้างชนิดเดียวกันกับผิวหนัง  ช่วยการซึมผ่านผิวของสารสกัดได้ดียิ่งขึ้น มีปลอดภัยสูงต่อการใช้ทางผิวหนัง ย่อยสลายได้ในร่างกาย  ช่วยให้สารสกัดออกฤทธิ์ได้ดีและยาวนานขึ้นรวมถึงยังช่วยป้องกันสลายตัวของสารสกัดอีกด้วย

จากความสำเร็จในการสกัดสารสำคัญจากสาหร่ายพวงองุ่นที่ตกเกรด ที่ผ่านการทดสอบและนำมากักเก็บในอนุภาคนีโอโซม  ทีมวิจัยได้พัฒนาต่อยอดออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเวอร์ชั่นแรกที่เป็นเซรั่มบำรุงผิวหน้าแบบเข้มข้น ที่มีฤทธิ์ช่วยชะลอวัย  เนื้อครีมซึมซับลงผิวได้รวดเร็ว ไม่ทำให้ผิวมันและเหนียวเหนอะหนะ  และยังมีกลิ่นหอมอ่อนๆ

โครงการวิจัยนี้มีการควบคุมคุณภาพและการตรวจสอบความคงตัวของสารสกัดและผลิตภัณฑ์เซรั่ม ซึ่งเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไทย สามารถนำองค์ความรู้ ไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ได้ นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะสาหร่ายพวงองุ่นเพื่อเป็นรายได้เสริม รวมถึงเพิ่มมูลค่าของสาหร่ายพวงองุ่นตกเกรด ซึ่งเป็นการลดของเสียในกระบวนการผลิตได้อีกด้วย

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดังกล่าวอยู่ระหว่างการขอการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หลังจากนั้นจะมีการวางแผนในการจัดจำหน่ายต่อไป