ส่องงานวิจัย “ช่วยลดปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย”

Cover Story

                จากข่าวการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ตอกย้ำ…ว่าปัญหาความรุนแรงทางสังคม  ถือเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

               เรื่องดังกล่าว… ถือว่าเป็นหนึ่งในโจทย์ที่ท้าทายสำหรับงานวิจัยที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของสังคมไทยให้ดีขึ้นแบบยั่งยืน   ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หน่วยงานหลักในการบริหารจัดการทุนวิจัยของประเทศ  ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และได้สนับสนุนแผนงานวิจัย “สังคมไทยไร้ความรุนแรง” อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้แนวทางการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนไทยให้ปลอดภัยจากความรุนแรงในสังคมที่ครอบคลุมในมิติต่าง ๆ

               และเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้การป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยสำหรับเยาวชน  เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา  วช. ได้เปิดเวทีนำเสนอ 4 ผลงานวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้อง  โดย “ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง” ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม โดยผลักดันการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะใช้เป็นแนวทางในการป้องกัน แก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแนวทางจากงานวิจัยทั้ง 4 ประเด็นหลักที่นำเสนอ จะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันทำให้สังคมไทยเป็น “สังคมไทยไร้ความรุนแรง” อย่างแท้จริง

               สำหรับประเด็นแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาการติดเกมของเยาวชน  ซึ่ง “เกม” มักจะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร้ายอันดับแรก ๆ เมื่อเกิดเหตุความรุนแรงจากเยาวชน   “ นางสาวณัฐพร กังสวิวัฒน์”   ตัวแทนจากโครงการ “การแก้ปัญหาติดเกมในเด็กและเยาวชนไทยในช่วงอายุ 6-25 ปี”  ซึ่งมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วัลลภ อัจสริยะสิงห์ จาก มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าโครงการ  กล่าวว่า  ปัจจุบันเกมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเด็ก ๆ ซึ่งการเล่นเกมอย่างพอดีก็มีข้อดีเช่นกัน เช่นการได้เพื่อน ได้ความสนุกสนาน ได้สังคมและได้ฝึกทักษะบางอย่าง แต่หากเล่นอย่างไม่เหมาะสมก็เกิดผลเสียตามมาได้ และหนึ่งในนั้นก็คือปัญหาการติดเกม ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้น พบว่าประเทศไทยมีเด็กและวัยรุ่นที่ติดเกมประมาณ 5.4 %  

               ทั้งนี้สาเหตุของการติดเกมมาจากหลากหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งปัจจัยจากตัวเด็กเอง เช่น ความรู้สึกการมีคุณค่าในตัวเองต่ำ ขาดทักษะชีวิต ขาดวินัยและขาดการควบคุมอารมณ์รวมถึงมีโรคทางจิตเวชบางอย่าง   ปัจจัยจากครอบครัว เช่น การที่พ่อแม่ขาดสัมพันธภาพที่ดีกับเด็ก ขาดกฎระเบียบที่ชัดเจน หรือตัวพ่อแม่เองไม่ได้ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี และปัจจัยทางสังคม เช่น เด็กมีปัญหากับเพื่อนในชีวิตจริง  เด็กเข้าถึงเกมได้ง่ายและมีอุปกรณ์เป็นของตนเอง   

               นักวิจัย ย้ำว่า ครอบครัวมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะป้องกันปัญหา และสิ่งที่ควรทำ คือ การให้ความรัก ความอบอุ่น  มีกติกาในการเล่นเกมที่เหมาะสมให้กับเด็ก มีการทำกิจกรรมที่สนุกสนานในครอบครัว และส่งเสริมให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเอง  ขณะเดียวกันสังคมและสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก ก็มีส่วนช่วยในการในการส่งเสริมให้พ่อแม่มีความพร้อมในการเลี้ยงดูเด็กมากขึ้นด้วย 

               ส่วนประเด็นความรุนแรงในสังคมไทยที่ต้องอาศัยความร่วมมือในการแก้ไขจากทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นผลงานภายใต้แผนงานวิจัย “สังคมไทยไร้ความรุนแรง (ปีที่ 3)” รองศาสตราจารย์ ดร.สุมนทิพย์ จิตสว่าง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ผู้อำนวยการแผนงานวิจัยดังกล่าว  กล่าวว่า  แผนงานวิจัยนี้ ได้สร้างฐานข้อมูลความรุนแรงในสังคมไทย และฐานข้อมูลความรุนแรงในครอบครัว เพื่อใช้ศึกษานโยบายและสร้างมาตรการความร่วมมือระหว่างเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการลดความรุนแรงในสังคมไทย และนำแนวทางปฏิบัติที่ดีในการป้องกันและแก้ไขความรุนแรงไปปฏิบัติเพื่อลดความรุนแรงในพื้นที่เป้าหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานปฏิบัติใน 5 มิติ ประกอบด้วย นโยบาย การป้องกันการใช้ความรุนแรง การคุ้มครอง การดำเนินคดี และการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วม อันจะนำไปสู่การสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรง

               “ ความรุนแรงของสังคมไทยในสถานการณ์โลก ไทยอยู่อันดับที่ 116 ในปี 2562 แม้ในปีนี้ไทยอยู่ในอันดับที่ 92   แต่ไทยยังมีสถานการณ์ความรุนแรงในสังคมอีกเป็นจำนวนมาก  ซึ่งหนึ่งในความรุนแรงนั้นก็คือความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน  จากสถิติการใช้ความรุนแรงโดยการฆาตกรรมที่กระทำโดยผู้ที่มีอายุระว่าง10-29 ปี ในปี 2542  ไทยอยู่ในอันดับ 8 ของโลก และมีสถิติกระทำผิดมากสุดในประชาคมอาเซียนในปี 2558  ส่วน ปี 2561เด็กไทยถูกรังแกในโรงเรียนเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น  ขณะที่ปี 2564-2565 ตัวเลขจากกรมพินิจ ฯ จำนวนเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจฯ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายเพิ่มขึ้น 14.76 %  ซึ่งสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าเด็กและเยาวชนใช้ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น”

               รองศาสตราจารย์ ดร.สุมนทิพย์  กล่าวอีกว่า  จากแผนงานวิจัยก่อนที่จะไปแก้ปัญหา ได้มีกระบวนการในการที่จะถอดบทเรียนถึงสาเหตุว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ใช้ความรุนแรงเพราะอะไร   หนึ่งในนั้นคือ การใช้ความรุนแรงเพราะต้องการแสดงออก ซึ่งจะเห็นจากเด็ก ๆ หรือผู้ใหญ่ที่มีความเครียดไประบายอารมณ์ด้วยความโกรธ  หรือแม้แต่การเล่นเกม นำไปสู่การแสดงออกในการปลดปล่อยอารมณ์ การใช้อาวุธปืนนำไปสู่ความรุนแรงหรือไม่ ต่อไปเป็นการใช้ความรุนแรงด้วยวิธีการแสดงอำนาจ ควบคุมผู้อื่นให้ทำตาม  ซึ่งเป็นการตอบโจทย์เรื่องการใช้ความรุนแรงในครอบครัว การใช้อำนาจ หรือแม้แต่เด็กที่มีอำนาจในการบ่งการผู้อื่น  ยิ่งถ้ามีอาวุธอยู่กับตัวจะเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนความรุนแรงให้อยู่ต่อไป  และประเด็นสำคัญที่จะทำให้เกิดความรุนแรงก็คือการเรียนรู้และซึมซับความรุนแรง ทั้งจากพฤติกรรมครอบครัว คนรอบข้าง และการลอกเลียนแบบจากสื่อ 

                “ จากการศึกษา พบว่าประเทศที่มีปัญหาครอบครัวมาก ปัญหาความรุนแรงในเด็กและเยาวชนก็จะมากตามไปด้วย  ปัจจุบัน ผู้หญิง 1 ใน 3 ของโลกถูกใช้ความรุนแรง  และเด็ก  1 ใน 2 ของโลกก็ถูกใช้ความรุนแรง  เมื่อถูกใช้ความรุนแรงวัฏจักรของความรุนแรงก็ถูกขับเคลื่อนต่อไป   จากงานวิจัยของยูนิเซฟพบว่าเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ถูกใช้ความรุนแรงตั้งแต่ 4 ครั้งขึ้นไปทั้งทางกาย ทางเพศหรือทางอารมณ์ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จะใช้ความรุนแรงต่อถึง 7 เท่า และเกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย 30 เท่า  ทั้งนี้การที่เด็กไปขับเคลื่อนวัฏจักรของความรุนแรงต่อนั้น  นอกจากจะมีปัจจัยสำคัญจากเรื่องของความผูกพันต่อครอบครัวและต่อสังคมแล้ว ยังมีเรื่องของการเรียนรู้ทั้งจากบุคคลและสื่อ  โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ ที่ทำให้เด็กสามารถหนีจากโลกความเป็นจริงไปสร้างตัวตนอยู่ในโลกออนไลน์ได้  สามารถเรียนรู้และซึมซับความรุนแรง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสำคัญ คือ บาดแผลทางใจ  โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว หรือถูกบูลลี่ จะเก็บไว้และไปแสดงออกด้วยวิธีรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ

               อย่างไรก็ดีจากการวิจัยซึ่งมีการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั่วโลก ทีมวิจัยมีข้อเสนอแนะถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาว่า ควรร่วมกันแก้ปัญหาความรุนแรงจากทุกภาคส่วน โดยกำหนดเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติ มีการแก้ปัญหาครอบครัว ลดความรุนแรงต่อสตรี ตัดวัฏจักรของความรุนแรงไม่ให้ผลิตซ้ำ แก้ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตของคนในสังคม  ปลูกฝังเด็กปฐมวัยให้ห่างไกลความรุนแรงด้วยหลักศาสนา  แก้ปัญหาเรื่องการเข้าถึงอาวุธ ปัญหายาเสพติด การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนในสังคมว่า การใช้ความรุนแรงไม่ใช่เรื่องธรรมดาและเคารพความแตกต่างของทุกคนในสังคม รวมถึงการบูรณาการงานวิจัยร่วมกันกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

               สำหรับประเด็นการเข้าถึงอาวุธปืน  รองศาสตราจารย์ ดร.สุมนทิพย์   กล่าวว่า ทีมวิจัยได้มีการศึกษาตั้งแต่เริ่มโครงการในปีแรกต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน  โดยเป็นการศึกษาถึงปัจจัยในการลดความรุนแรง ซึ่งพบว่าหากมีอาวุธปืนอยู่ในครอบครัว และครอบครัวนั้นใช้ความรุนแรง  จะนำไปสู่การฆาตกรรมมากถึง 500 เท่า

               ขณะที่โครงการวิจัย “สถานการณ์เยาวชนกับความรุนแรงในสังคมไทย: กรณีศึกษางานวิจัย “ครอบครัวพลังบวก” ซึ่งมี “รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี”   ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)  เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย มีการนำหลักการพัฒนาระบบพี่เลี้ยงที่ปรึกษาชุมชน มุ่งสร้างครอบครัวพลังบวก รวมไปถึงการให้ความรัก ความอบอุ่น และความปลอดภัยที่มีอยู่ในสมาชิกของทุกคนเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม เพราะครอบครัวคือหน่วยในการสร้างพลเมืองที่ดีของสังคมไทย

               รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุริยเดว  กล่าวว่า  “ จากการเก็บข้อมูลวิจัยมากว่า 10 ปี พบว่าปัจจุบันสถานการณ์พลังบวกของเด็กในประเทศไทย (อายุ12-25 ปี) มีการลดต่ำลง ซึ่งมีการส่งสัญญาณเตือนเรื่องต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชน (ซึ่งเด็กเป็นผู้ประเมิณเอง)  นับตั้งแต่ก่อนเริ่มโควิด-19 ระบาดว่ากำลังเริ่มต่ำลงทั้งประเทศ และ ยิ่งเมื่อสถานการณโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจไม่ดี พ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยงลูก ไม่ว่าจะเป็นฐานะยากจน และต่อให้มีฐานะร่ำรวย ก็มีหลักฐานยืนยันได้ว่า หากเลี้ยงลูกมีต้นทุนชีวิตต่ำ จะเสี่ยงกว่าเด็กทั่วไป 3-10 เท่า  ขณะเดียวกันสมมุติฐานที่ผู้ใหญ่ชอบวางไว้ว่า หากเด็กเรียนเก่งแล้วจะเป็นคนที่มีภูมิคุ้มกันที่ดี เป็นการเข้าใจผิด เพราะมีงานวิจัยที่พบว่าเด็กที่เรียนเก่งที่สุด  มีแนวโน้มมีจิตสาธารณะน้อยที่สุด  รวมถึงเด็กที่จบการศึกษาไปแล้วและกำลังจะได้รับรางวัลระดับโลกต่าง ๆ ก็พบว่ามีจิตสาธารณะต่ำที่สุดในประเทศ และต่ำกว่าเด็กพิการทางสายตาและทางการได้ยิน  ที่ควรจะได้รับการช่วยเหลือ แต่กลับมีน้ำใจในการแบ่งปันมากกว่าเด็กปกติ 2 เท่าอีกด้วย”

               ด้าน ดร.หรรษา เศรษฐบุปผา จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  หัวหน้าโครงการวิจัย“การศึกษาประสิทธิผลของการดำเนินการตามโปรแกรมการฝึกทักษะชีวิตในการจัดการความโกรธตามวิถีพุทธในวัยเด็กตอนปลาย :โปรแกรมเด็กรุ่นใหม่ใจเย็น ๆ”  กล่าวถึงการป้องกันความรุนแรงในสังคมไทย ว่า  งานวิจัยนี้สามารถสร้างลักษณะนิสัยให้เด็กใจเย็นจากการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลาผ่านสื่อที่สนุกสนานและน่าสนใจ มีการถ่ายทอดความรู้เหมาะสมกับวัย และพัฒนาทักษะเป็นลำดับขั้นตอนโดยมุ่งเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามในการสร้างทักษะชีวิตในการจัดการความโกรธในเด็กตอนปลาย